คลัง เผยปิดหีบรายได้ปีงบ 66 เกินเป้าแสนลบ. อานิสงส์ท่องเที่ยวคึกคัก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท/ลิตร เพื่อช่วยให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตรนั้น โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 20 ก.ย. – 31 ธ.ค.66 นั้น ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ราว 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ในปีงบประมาณ 66 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยเกินกว่าเป้าหมายราว 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเรียกเก็บรายได้พิเศษต่าง ๆ ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างดี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้ามา

“มาตรการลดภาษีดีเซล เราได้ใส่ไว้ในประมาณการการจัดเก็บรายได้แล้ว ซึ่งจะมีผลกับการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 เป็นหลัก เพราะมาตรการที่เริ่มตั้งแต่ 20 ก.ย.นี้ อยู่ในปีงบประมาณ 2566 แค่ 10 วันเท่านั้น (20-30 ก.ย.) ซึ่งไม่น่าจะมีผลมากนัก” นายกฤษฎา กล่าว

โดยวันนี้ ครม.มีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้กลไกลภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในส่วนของกลไกภาษีสรรพสามิตนั้น ได้มีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่เรียกเก็บอยู่ 5.99 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าเป้าหมายประมาณ 1.8 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ 2.02 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรก กรมฯ จัดเก็บได้ค่อนข้างมาก หลัก ๆ มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น และภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นสัญญาณที่แผ่วลง สะท้อนจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 นั้น ขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้เตรียมหลายมาตรการไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าเศรษฐกิจอาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ ซึ่งแนวโน้มการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจโดยตรง หากเศรษฐกิจโตได้ดี ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

“ตอนนี้คงเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงบ้างแล้ว สะท้อนจากที่สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จึงเป็นเหตุผลจำเป็นที่จะต้องทำมาตรการเพื่อพยุง และกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปอยู่ในจุดที่เราคาดการณ์เอาไว้ โดยต้องไปดูว่ากระสุนมีเท่าไร และจะยิงที่ไหน ทั้งหมดนี้ยังต้องรอดู” นายลวรณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top