นักวิชาการฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ ภาพอนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาเรื่อง “ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ.” ในประเด็นที่ว่า รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรในช่วง 1 ปีข้างหน้า และภาพอนาคตที่อยากเห็นประเทศไทยในอีก 4 ปี จะเป็นอย่างไร

นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยเจ็บหนัก และฟื้นตัวช้าจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากการต่อสู้วิกฤติโควิดที่ผ่านมา ต้องใช้เงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น การบริโภคต่อ GDP ไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศรายได้ปานกลาง และส่วนแบ่งตลาดโลกของอาเซียนไทยลดลง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องถอดบทเรียนในอดีต โดยต้อง “เข้าใจโจทย์” มุ่งไปการฟื้นเศรษฐกิจจากความเสียหายช่วงโควิด-19 “ต่อยอดสิ่งที่มี” โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และ “ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป” ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศต้องสอดรับกัน, ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกสูง จึงต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี, หนี้สาธารณะของไทยที่สูงขึ้นมาก การใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะความคุ้มทุน และสถานประกอบการทุกขนาดที่ได้รับความเสียหายจากโควิด-19

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลใหม่ ดังนี้

1. ถ้าจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ อย่างนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ดี คาดว่าผลที่คาดว่าจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่มาก และไม่ยั่งยืน โดยมองว่าเงินหมุนเวียนในระบบ (Multipliers) น่าจะต่ำกว่า 3 เท่า

2. การพึ่งพาการส่งออกเพื่อฟื้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็น หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยควรมียุทธศาสตร์แยกระหว่าง FTA ที่ลงนามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และ FTA ที่ลงนามกับประเทศกำลังพัฒนา

3. วาง Position อย่างเหมาะสม ท่ามกลางกระแสการแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต (Decoupling) : นโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศต้องสอดรับกัน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จาก Decoupling และต้องสร้าง Eco-system การลงทุนให้เหมาะสมเพื่อดึงดูด Investment Diversion ให้เหมาะสม

4. การส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทำคู่ขนาน คือ ต่อยอดจากสิ่งที่ดำเนินการอยู่เดิม และผ่องถ่ายไปสู่โครงสร้างใหม่ Industrial Transformation Roadmap เป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับ Technology Roadmap

“อยากเห็นรัฐบาลรักษาสมดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการลงทุนในระยะยาว อยากให้หนีจากกับดักระยะสั้น เกลี่ยน้ำหนักอย่าประชานิยมมากเกินไป เข้าใจว่าเป็นการเมือง แต่ถ้าทุกอย่างเป็นนโยบายระยะสั้น ผลก็จะจบอยู่แค่นั้น” นายอาชนัน กล่าว

นายชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) กล่าวว่า สำหรับประเด็นด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม อยากฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้

1. ประเด็นด้านพลังงาน : ในระยะสั้น ได้แก่ เสนอปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น โดยการปรับแนวคิดการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ควรใช้การอ้างอิงราคาส่งออกไปสิงคโปร์ แทนที่ราคานำเข้าจากสิงคโปร์, ลดค่าไฟฟ้า โดยการปรับปรุงระบบการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ควรซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่แพงกว่าภาคประชาชน (ภาคไฟฟ้า) โดยการปรับเปลี่ยนเฉพาะระบบคำนวณราคา ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการส่งจ่ายเนื้อก๊าซธรรมชาติ, สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) ในภาคอุตสาหกรรม และปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า

ส่วนในระยะยาว ได้แก่ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (การผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์), ปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับการผลิตไฟฟ้าจาก RE ในสัดส่วนสูง และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Solar บนหลังคา) โดยรับซื้อเสรี ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าแบบผันแปรตามเวลา

2. ประเด็นเรื่องฝุ่น PM 2.5 : แก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในที่โล่งภาคเกษตร โดยการสร้างกระแสความเข้าใจของประชาชน, การสร้างมาตรการแรงจูงใจในการลดการเผาของสินค้าเกษตรแต่ละประเภท, ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทางเลือกมาตรการที่เหมาะสมแต่ละกรณี และการแก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกัน ต้องแก้ปัญหาฝุ่นจากภาคขนส่ง โดยทำให้การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นโหมดการเดินทางหลักของเมือง ทำให้กรุงเทพฯ ไม่เป็นเมืองแห่งรถยนต์ โดยใช้ระบบตั๋วร่วม, การอุดหนุนจากรัฐ, ระบบจอดแล้วจรที่เพียงพอ และเพิ่มต้นทุนการใช้รถยนต์

3. ประเด็นด้านโลกร้อน : ยืนยันความมุ่งมั่นกับการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) และผลักดันมาตรการ Carbon Pricing ในรูปของภาษีคาร์บอน หรือตลาดคาร์บอน

4. ประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ : ในระยะสั้น อาทิ จัดระบบประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก (ลดความซับซ้อนในการรีไซเคิล) และเร่งรัดการออกกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวทาง Extended Producer Responsibility (EPR) ส่วนในระยะยาว อาทิ ภาษีพลาสติก และการเร่งรัดการออกกฎหมาย การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR)

“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ความสำเร็จของรัฐบาล อยู่ที่การมองปัญหา และแก้ปัญหา อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือปัญหาความทับซ้อนของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นายชโลทร กล่าว

น.ส.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านที่ดิน ด้านส่งเสริมการแข่งขัน ขจัดการผูกขาด ด้านการกระจายทรัพย์สิน และด้านการกระจายอำนาจ

อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องการกระจายทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรมในทุกๆ มิติ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนี้

1. ข้อมูลด้านการถือครองทรัพย์สิน ต้องเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เช่น การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม

2. รัฐควรสนับสนุนให้เกิดระบบตลาดที่มีการแข่งขัน และป้องกันไม่เกิดการผูกขาดทางการค้า (เนื่องจากแหล่งรายได้หลักของผู้ที่มีทรัพย์สินจะมาจากการทำธุรกิจเป็นส่วนใหญ่) จึงจะทำให้เกิดการกระจายโอกาส และรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

3. รัฐต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจทางการเมือง และการคลังอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับฐานราก รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

4. ปรับปรุงการจัดก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ตามขนาดการถือครอง เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน

5. ภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว

6. ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

7. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษี และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ (Tax expenditure) ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

8. จัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน (Capital Gains Tax) เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

9. ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม สวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ควรมีความครอบคลุมและทั่วถึง

10. พัฒนาการทำงานภาครัฐ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือมีความซ้ำซ้อน

“ไม่ได้มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะสำเร็จได้ใน 1 ปี แต่หากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลต้องมองการพัฒนาประเทศรอบด้าน การกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเป็นสิ่งที่ดี แต่พอโตแล้ว ต้องดูว่าการกระจายมีความเป็นธรรมหรือไม่” น.ส. ดวงมณี กล่าว

นายชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่รัฐบาลควรดำเนินการในช่วง 1 ปีข้างหน้า สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น คือ

1. ประเด็นสังคม ได้แก่ ลดภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี, ลดการตาย และการเป็นโรคไม่ติดต่อสำคัญ และขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

2. ประเด็นเศรษฐกิจ ได้แก่ เปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นธรรม, จัดการหนี้ครัวเรือนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคเกษตร และในกลุ่มคนรายได้น้อย และ Greening MSMEs

3. ประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลักดัน Climate Adaptation อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ, ผลักดันกฎหมาย PRTR และรับมือกับปัญหา PM 2.5 ในระยะสั้น

ส่วนตลอดระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้ อยากจะเห็นรัฐบาลมีความก้าวหน้าในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. ระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food System) 2. เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Sustainable and Just Economies) 3. เมืองที่ยั่งยืนและครอบคลุม (Sustainable and inclusive Cities) 4. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) 5. ธรรมาภิบาล (Good Governance) และ 6.การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกระดับ (Education for Sustainable Development for all)

นายถิรภาพ ฟักทอง กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE) กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลนี้ คือ การให้ความสำคัญกับการ Upskill Reskill แรงงานมากขึ้น โดยต้องลงไปพูดคุยกับแรงงานว่าต้องการอะไร เพื่อให้การแก้ปัญหาตอบโจทย์มากที่สุด

นอกจากนี้ อยากเห็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการทุ่มงบประมาณและกำลังคนในการวิจัย และแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลที่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน

“รัฐบาลควรปกป้องแรงงานมากกว่างาน อยากให้รัฐบาลรับฟังคนตัวเล็กๆ ว่าแท้จริงแล้ว ต้องการอะไรกันแน่ และมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย” นายถิรภาพ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top