AOT เร่งเครื่องลงทุนสนามบินอันดามัน 7 หมื่นลบ.รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า บริษัทเร่งศึกษาการลงทุนขยายท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานอันดามัน (สนามบินภูเก็ต 2) เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นและเพื่อลดความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งรองรับนโยบายที่มุ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยจะใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย จ.พังงา พื้นที่ 6 พันไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุก็สามารถเดินหน้าได้เร็ว โดยจะไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) เพื่อดูความเหมาะสมของโครงการ และความคุ้มค่าการลงทุน คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี โดยสิ้นปี 66 คาดว่าจะจ้างที่ปรึกษาดำเนินการรวมถึงการทำรายงานผลกระทบต่อสิงแวดล้อม (EIA) จากนั้นก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา

โครงการลงทุนท่าอากาศยานอันดามัน เบื้องต้นมูลค่าโครงการ 7 หมื่นล้านบาท จะมี 2 รันเวย์ และรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน/ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดจะเปิดบริการได้ในปี 73-74

ส่วนโครงการลงทนท่าอากาศยานเชียงใหม่ 2 ซึ่งเคยพิจารณาพื้นที่เหมาะสมที่ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ราว 5-6 พันไร่ แต่พื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนอาจจะต้องใช้งในการเวนคืนที่ดินมาก อย่างไรก็ดี จะศึกษาควบคู่ไปกับท่าอากาศยานอันดามัน

ทั้งนี้ AOT มีแผนขยายขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายในปี 2570 ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารทั้งหมด 200 ล้านคน งบลงทุนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยโครงการเร่งด่วน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่าลงทุน 8 พันล้านบาท จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 67 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 70

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านคน โดยโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในปลายปี 67 หลังจากนั้นจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 68 โดยจะมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จในปี 70 และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 รวมพื้นที่ 2.4 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในประเทศ คาดว่าทั้งหมดจะรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี รวมทั้งปรับปรุงจราจรเป็น 6 เลน และสร้างทางเชื่อมต่อกับทางด่วนโทลเวย์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top