ฮัทชิสันพอร์ทปักเป้าใหม่ขนตู้สินค้าผ่านท่าที่ 50 ล้านทีอียู เร่งพัฒนา Terminal D

นายสตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่าบริษัทได้ปฏิบัติการยกขนตู้สินค้าครบจำนวน 40 ล้านทีอียู ซึ่งนับเป็นสถิติในการปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าใหม่ล่าสุด (ก.ย.66) พร้อมตั้งเป้าใหม่ขนตู้สินค้าครบ 50 ล้านทีอียู

ขณะที่บริษัทมีแผนที่พัฒนาท่าเทียบเรือชุดดี (Terminal D) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสามารถรองรับปริมาณตู้ได้จำนวน 3.4 ล้านทีอียูต่อปีคาดว่าจะพัฒนาเสร็จทั้งหมดในปี 2569 โดยเร่งพัฒนาเฟส 1 ในปีนี้ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้ 800,000 ทีอียู ส่งผลให้ท่าเรือของบริษัทในปี 66 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งหมด 2 ล้านทีอียู

โดยบริษัทได้ลงทุนในการพัฒนาท่าเทียบเรือทั้งหมด ได้แก่ ท่าเทียบเรือชุด A ท่าเทียบเรือชุด C และท่าเทียบเรือชุด D ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบลงทุนที่กำลังพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและตั้งเป้าจะเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยที่สุดในโลกเมื่อพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D เสร็จสิ้น จากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินงาน อาทิ เครื่องมือยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล (remote-controlled ship to shore cranse) รวมทั้งรถหัวลากไร้คนขับซึ่งมีพนักงานควบคุมสั่งการจากระยะไกล

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดของปริมาณการยกขนตู้สินค้าท่าเทียบเรือในแหลมฉบัง 30%

จากตามแผนงานการพัฒนาท่าเทียบเรือชุดดี เพื่อรองรับความต้องการของสายการเดินเรือที่เข้ามาส่งสินค้ามากขึ้น รวมทั้งขนาดของเรือสินค้าที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ท่าเรือของบริษัทเป็นท่าเรือเดียวที่สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้และอุปกรณ์พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการยกขนส่งตู้สินค้าจากเรือไปที่ท่า

อย่างไรก็ตามปริมาณการยกขนตู้สินค้าในช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ส่งออกของประเทศไทยไปยังฝั่งยุโรปและอเมริกาชะลอตัว แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทมองว่าภาพรวมการนำเข้าและส่งออกของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นนับจากนี้

ทั้งนี้บริษัทหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนกับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและท่าเรือขนส่งสินค้ามากยิ่งขึ้น และมีความหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะมีผลโดยตรงกับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ที่ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งรัฐบาลอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริษัทมองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ ทั้งนี้บริษัทมีความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าตรงไปยังชุมพร แต่ยังต้องรอข้อสรุปจากการศึกษาโครงการดังกล่าวต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top