รมว.อุตฯ เร่งยกระดับผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับ BCG Model

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด เร่งพัฒนาผู้ประกอบการทุกขนาดเพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยนำแนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม และอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่มีเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานส่งเสริม แทนการกำกับดูแลที่เน้นให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้โรงงานมีความคล่องตัวในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นไปแบบยั่งยืนที่แท้จริง” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

เนื่องจากขณะนี้ ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว กำหนดมาตรการต่างๆ ในการลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการนำเข้าสินค้าที่เป็นลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับผู้ประกอบการผ่านกลไกต่างๆ ที่จะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ดังนั้นวาระเร่งด่วนจึงให้ความสำคัญดังนี้

1. มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่รองรับบริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาด และการลดการใช้ฟอสซิล อุตสาหกรรม Soft power ฯลฯ

2. การผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัล (Digital Government) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกในการให้บริการ การขออนุมัติ/อนุญาต และบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลโรงงาน เหมืองแร่ และมาตรฐานอย่างจริงจัง

3. เร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นให้เข้มงวดขึ้น การรวมพลังของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแลแม่น้ำลำคลอง การทิ้งกากอุตสาหกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่างๆ

4. กำหนดมาตรการแก้ไขฝุ่นมลพิศษ PM 2.5 โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษไปสู่มาตรฐาน EURO 6 ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป การกำกับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอย่างเข้มงวด การส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวไร้อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา ตลอดทั้งการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา

5. ขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้แนวทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ในภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด และมาตรการลดราคาที่ดินและบริการ เพื่อเป็นกลไกดึงดูดการลงทุนรายใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top