เครือไทยเบฟ ควักงบกว่า 7 พันลบ.ปี 66/67 จับมือพันธมิตรสยายปีกบุกเอเชีย เล็งปัดฝุ่นแผน IPO ธุรกิจเบียร์

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการอำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ประกาศแผนลงทุนในงวดปี 66/67 (1 ต.ค. 66- 30 ก.ย.67) ด้วยงบลงทุนกว่า 7 พันล้านบาท ไม่รวมเงินลงทุนที่จะใช้สำหรับการทำดีลซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โดยงบลงทุนส่วนใหญ่กว่า 4 พันล้านบาทจะใช้ตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกัมพูชา เพื่อเป็นฐานใหม่ในการรุกขยายตลาดกัมพูชา และเป็นฐานการผลิตวิสกี้ Single Malt เพื่อจำหน่ายในอาเซียน รวมถึงต่อยอดไปถึงการรองรับการผลิตเครื่องดื่มในกลุ่มนอน-แอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน

บริษัทมองเห็นถึงโอกาสในการขยายฐานการผลิตเครื่องดื่มในกัมพูชา โดยร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อเป็นการรองรับการขยายตลาด รวมถึงมองโอกาสการต่อยอดไปสู่ตลาดเวียดนามด้วย เพราะเห็นศักยภาพและการส่งเสริมของภาครัฐในเรื่องของการค้าชายแดน การเติบโตในตลาดอาเซียน รวมถึงศึกษาการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวเพิ่มเติมภายในปี 67

ขณะที่การขยายตลาดในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน บริษัทได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรในมณฑลกวางโจว เพื่อร่วมงทุนในโรงงานผลิตเหล้าขาว ทั้งการจำหน่ายในประเทศจีนและส่งออก ถือเป็นการเข้าไปเรียนรู้การทำธุรกิจเครื่องดื่มทั้งในการผลิต พฤติกรรมลูกค้า และการนำเทคโนโลยีของจีนมาปรับใช้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้บริษัทได้เข้าใจถึงอุตสาหกรรมและสภาพตลาดในประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงการที่เข้าไปช่วยพันธมิตรจีนขยายชการจำหน่ายสุรามายังอาเซียน

“การสร้างการเติบโตของกลุ่มไทยเบฟจากนี้จะเน้นๆไปที่ความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่มองว่าใครซื้อกิจการใคร ทำให้ Speed ได้เร็ว แต่ตอนนี้ธุรกิจเปลี่ยนจากการแข่งขันมาเป็น Partnership แทน เราจับมือกับใครที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลก เข้าใจลูกค้า และสามารถเติบโตและอยุ่รอดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เพื่อสร้างรากฐานใหม่ๆต่อการเติบโต” นายฐาปน กล่าว

ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทที่มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 ที่ 2.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 3.4% มาอยู่ที่ 3.77 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลงทุนที่มากขึ้นของบริษัทเพื่อสร้างยอดขาย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาผลกำไรสุทธิและส่วนแบ่งตลาดของบริษัท และยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

สำหรับการนำธุรกิจเบียร์ (BeerCo) เสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ยังคงอยู่ในแผนงาน แม้ว่าจะมีการเลื่อนแผนออกไปบ้าง เนื่องจากสภาวะตลาดทุนในปัจจุบันยังไม่เอื้อ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับหลายๆ บริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้นที่ตัดสินใจเลื่อนออกไปก่อน โดยบริษัทจะกลับมาพิจารณาการนำ BeerCo เสนอขาย IPO และเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์อีกครั้งเมื่อตลาดทุนกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา ของไทยเบฟ กล่าวว่า ธุรกิจสุรายังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและผลกำไรที่มั่นคง โดยในไทยบริษัทได้วางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจตั้งแต่ก่อนที่ตลาดจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของกลุ่มไทยเบฟ เช่น รวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยความพยายามดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มสามารถคงตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราขาวและสุราสีไว้ได้

สำหรับตลาดต่างประเทศยังได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จอย่างมากของบริษัท

ส่วนในเมียนมา ถือว่า แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด แต่คาดว่าดีมานด์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนแผนการขยายโรงงานผลิตสุราแห่งที่ 2 ในเมียนมา หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ปัจจุบันยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในเมียนมา ทำให้บริษัทยังไม่เร่งลงทุน

นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยเร่งการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายการเติบโตและก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาด โดยมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership, Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness

บริษัทมุ่งมั่นเสริมแกร่งทางการค้าให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership” เน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่างๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย โดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทไทยเบฟเพื่อผนึกกำลังในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการกระจายสินค้าและช่องทางการจำหน่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงตราสินค้า

พร้อมเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง หลังจากปี 62 เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรูว์” ในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 65 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นน่าพอใจ ขณะเดียวกัน “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์” ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองด้านคุณภาพต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน

นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” มุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น

นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออกและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง แต่บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม สร้างทีมขายมืออาชีพ และเสริมแกร่งกลุ่มตราสินค้า Winning Brand Portfolio โดยเราได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆเพื่อยกระดับ Bia Saigon ในฐานะความภาคภูมิใจของเวียดนาม

ซาเบโก้มุ่งเน้นการขยายธุรกิจ พัฒนากลุ่มตราสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรางวัลมากมายจากการประกวดคุณภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ระดับนานาชาติ รวมถึงแคมเปญการตลาก็ได้รับรางวัลเช่นกัน

ซาเบโก้เสริมสร้างความเป็นเลิศด้านการผลิตและใช้มาตรการบริหารต้นทุนที่เข้มงวดเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท อีกทั้งยังมุ่งมั่นเดินหน้าผนวกเครือข่ายโรงเบียร์ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหารต้นทุน ด้วยแผนงาน SABECO 4.0 ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซาเบโก้มั่นใจอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด และบรรลุเป้าหมายระยะยาว

ขณะที่ นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์มีการเติบโตที่สูงในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง “แรงเยอร์” ที่ถือว่าเติบโตมากกว่า 50% มากกว่าที่บริษัทคาดไว้ แม้จะไม่ได้มีการทำโฆษณาและเคมเปญการตลาด แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาขายไว้ที่ 10 บาท

ขณะที่แบรนด์ชาพร้อมดื่ม โออิชิ ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาด (Market share) อันดับ 1 ได้ต่อเนื่อง และสามารถเติบโตได้อย่างดีราว 15.5% จากการที่บริษัทหันไปเน้นการขายในกลุ่มชาพร้อมดื่มพรีเมียม ทำให้เข้าถึงลูกค้าในกลุ่มที่รักสุขภาพได้มากขึ้น และเป็นกลุ่มสินค้าที่ให้มาร์จิ้นที่ดี รวมถึงการขายในตลาดอาเซียนในสปป.ลาว กัมพูชา มีการเติบโตที่ดีขึ้นค่อนข้างมาก

แผนระยะต่อไปของบริษัทมองถึงการขยายธุรกิจชาพร้อมดื่มไปยังประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด โดยที่ปัจจุบันยอมรับว่าตลาดในเวียดนามมีความท้าทายค่อนข้างมากจากการแข่งขันสูง โดยเฉพาะด้านราคา รวมถึงกลุ่มสินค้ายังมีความใกล้เคียงกันมาก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการที่ต้องการนวัตกรรมชาพร้อมดื่มใหม่ๆเข้ามานำเสนอ เพื่อให้เกิดความแตกต่าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี โดยที่โรงงานการผลิตจะต่อยอดจากโรงงานของซาเบโก้

สำหรับเครื่องดื่มอัดลม est cola หลังจากรีแบรนด์ และการทำการตลาดมากขึ้นในช่วงต้นปี ยอดขายก็ฟื้นกลับมาดีขึ้น ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 22% และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และมีการส่งออกไปขายในมาเลเซีย และจีน รวมถึงน้ำดื่มคริสตัล ก็ยังมีการเติบโตที่สูง 19.5%

ในส่วนของการนำ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากทางกลุ่มไทยเบฟต้องการที่จะปรับโครงสร้างในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ และอาหาร ให้มีความชัดเจนในการทำธุรกิจมากขึ้น เพื่อทำให้การเดินหน้าในการทำธุรกิจในแต่ละส่วนสามารถทำได้อย่างเต็มที่

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงกันอีกครั้ง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ในขณะนี้การบริโภคภายในร้านเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้บริษัทใช้โอกาสนี้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม

โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทยแบ่งเป็น KFC 440 สาขา โออิชิ 278 สาขา และอื่นๆ 53 สาขา ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 สาขา

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิมด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น ในขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การดำเนินงาน เทคโนโลยี และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการลดขยะอาหารจากร้านในเครือ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหาร รวมถึงโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆอีกด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top