รัฐ-เอกชน เดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด ลดโลกร้อน-ผลกระทบราคาผันผวน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2023 ว่า สถานการณ์ราคาพลังงานยังคงมีความผันผวนจากหลายปัจจัย

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และบ่อยขึ้นกว่าในอดีต, ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมากขึ้น, นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางหลายประเทศ ส่งผลต่อค่าพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญของทุกภาคส่วน นอกเหนือจากการแสวงหาพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนแล้ว ยังต้องหาแนวทางการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับแนวการจัดหาพลังงานให้เกิดความมั่นคงนั้น ต้องมีการวางแผนให้เกิดความรอบคอบ เช่น การตั้งโรงไฟฟ้า จะไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงอย่างหนึ่งอย่างใดมากเกินไป เพื่อกระจายความเสี่ยง และต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งพลังงานโซลาร์เซลล์, พลังงานสูบกลับ, พลังงานแบตเตอรี่, พลังงานชีวภาพ ซึ่งการพัฒนาจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นตัวเร่งให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยควรมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2573 เพราะจะเห็นว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก

“สถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือดไปแล้ว ทั่วโลกมี 8 พันล้านคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา” นายเกรียงไกร กล่าว

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไทยกำลังปรับเปลี่ยนจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แต่คนที่จะมาลงทุนจะย้อนถามเราถึงแหล่งต้นทางของพลังงาน ซึ่งประเทศไทยจะต้องพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคให้ได้ จากปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ 4

สำหรับการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น จะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งเป็นภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการ SME เป็น Smart SME ด้วยการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การเข้าสู่ระบบดิจิทัล, การใช้นวัตกรรม และการเข้าสู่ตลาดโลก หากผู้ประกอบการ SME ของไทยเข้าระบบ Supply chain เหมือนในเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีเหตุสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสนั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะมีสัดส่วนการส่งออกน้อย ซึ่งอยู่ในคาดการณ์ของ ส.อ.ท.อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ แต่ยังโชคดีที่ปัญหาอยู่ในพื้นที่จำกัด และหวังว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top