WAVE BCG และ Climate Offset Accelerator ร่วม Token X ศึกษาความเป็นไปได้ออก RECs โทเคน

บมจ.เวฟ บีซีจี (WAVE BCG) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) และ บริษัท ไคลเมท ออฟเซ็ท แอ็คเซลเลอเรเทอร์ จำกัด หรือ Climate Offset Accelerator ผู้ออกโทเคนดิจิทัล ร่วมกับ บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด หรือ Token X ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งอยู่ภายใต้ กลุ่มธุรกิจทางการเงินเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ในการศึกษาการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Enegy Certificates: RECs) เป็นสินทรัพย์อ้างอิง โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเบื้องต้นทุกฝ่ายศึกษาความเป็นไปได้ในการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลทั้งในรูปแบบโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Tokens) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Tokens)

จากแรงกดดันจากนานาชาติ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับกลไกการลดก๊าซเรือนกระจก นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WAVE BCG กล่าวว่า เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเสถียรภาพด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการบรรลุเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจากการประชุม Climate Ambition Summit 2023 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้คำมั่นในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตั้งเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 ตลอดจนเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) ที่เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 40% ภายในปี พ.ศ. 2573

นอกจากนี้ยังมีกลไกด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรปบังคับใช้กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยประมาณ 14,700 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการเสนอ Clean Competition Act หรือ CCA ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต เป็นต้น รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอน โดยมีอัตราภาษีเริ่มต้น 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2567-2568 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอน ในปี พ.ศ.2569-2570

อีกทั้งมีแรงกดดันจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน และกองทุนที่ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุน (Private Equity Fund) จะไม่สามารถลงทุนในบริษัทที่มีคะแนน ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ต่ำ ซึ่งจากแรงกดดันดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างประเมินค่าไม่ได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความได้เปรียบภายใต้ข้อกำหนดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว และยังคงความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก รวมถึงป้องกันการกีดกันทางการค้าภายใต้กลไกรักษ์โลก

นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Token X ในกลุ่ม บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) กล่าวเสริมว่า Token X เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของโทเคนดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Asset Class ที่จะเข้ามามีบทบาทในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นคำตอบของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการนำโทเคนดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนประสานเข้ากับธุรกิจ สินทรัพย์ และโครงการของผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยติด Top 10 ของโลก เสี่ยงเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในความท้าทายคือ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ตามการรายงานของ German Watch รวมไปถึงการประเมินของ Climate Action Tracker ได้ประเมินว่า หากประเทศไทยยังดำเนินมาตรการตามแบบปัจจุบันต่อไป (Critically Insufficient) จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อีกทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยใน ปี พ.ศ. 2562 ปล่อยกว่า 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นอันดับ 20 ของโลก โดยภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยมากถึง 70% ของมวลรวมทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมีเพียง 13% ของพลังงานไฟฟ้ามวลรวมทั้งหมด

จากการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นจำนวนมาก เช่น การพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น แต่ยังคงไม่เพียงพอและมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศ Green Taxonomy หรือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อให้สถาบันทางการเงินใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า ในการออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับ NDC ของประเทศไทย หากผู้ประกอบการรายใดมีแนวโน้มในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจากกิจกรรมขององค์กร จะมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ประเทศไทยเริ่มปรับใช้แนวทางเป็นภาคบังคับมากขึ้นแทนที่ภาคสมัครใจในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุความมุ่งมั่นพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะกำหนดเกณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือใช้พลังงานสูง หากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ จะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การได้รับบทลงโทษ อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Footprint ในรายงานฉบับเดียว (One Report) เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG และขณะนี้กำลังพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเปิดเผย Carbon Footprint ขององค์กรในประเทศไทย

หน่วยงานไทยงัดมาตรการสู้ปัญหาโลกเดือดอย่างเป็นรูปธรรม อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็คือ “ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะสนับสนุนการเพิ่มขึ้นและการขยายของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเครื่องมือนี้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และระบุแหล่งที่มาชัดเจนว่าพลังงานหมุนเวียนนี้มาจากโรงไฟฟ้าประเภทใด รวมไปถึงการใช้อ้างสิทธิ์ใน Emission Scope 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้าขององค์กร โดยมาตรฐานการขึ้นทะเบียน RECs ภายในประเทศไทย เป็นมาตรฐาน International Renewable Energy Certificate: I-REC ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล กว่า 48 ประเทศทั่วโลก และเป็นที่นิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยมีปริมาณการขึ้นทะเบียนมากถึง 16 ล้าน RECs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึง ปี พ.ศ. 2566

นอกจากนี้การซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งบริษัทชั้นนำอย่าง Starhub Singtel และ Grab ได้สนับสนุนการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนโดยมีประเทศไทยและเวียดนามเป็นคู่ค้าหลัก

โทเคนดิจิทัลที่มี RECs เป็นสินทรัพย์อ้างอิงนั้น คาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ลงทุนรายใหญ่และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีพันธกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโทเคนดิจิทัลที่มี RECs เป็นสินทรัพย์อ้างอิงครั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับโลก ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศภายในปี พ.ศ. 2593

ในโครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ Token X ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก.ล.ต. และ ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี Blockchain Solution โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างภาคธุรกิจให้ขับเคลื่อนความก้าวหน้า ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจไทยผ่านการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ Token X มีความเชี่ยวชาญด้านโทเคนดิจิทัล พร้อมทีมงานมืออาชีพ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า นำพาไปสู่การใช้งานจริงอย่างมีคุณภาพ

WAVE BCG ผู้ให้บริการด้าน Climate Solutions ครบวงจร มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดคาร์บอนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย การเป็นผู้พัฒนา การศึกษาและจัดหาคาร์บอนเครดิต รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน และ Climate Offset Accelerator ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารจัดการ RECs ในฐานะผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่มี RECs เป็นสินทรัพย์อ้างอิง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top