รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายหนุนธุรกิจ SMEs สร้างมูลค่าตลาด 40% ของ GDP ในปี 70

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยระบุว่า ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ มอบหมายให้กำกับดูแล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มอบ 7 นโยบายสำคัญ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ โดยภารกิจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สอดรับกับนโยบายเร่งด่วน 3 ด้าน คือ

1. นโยบายด้านการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นเดินหน้าสร้างรายได้และขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการ ‘ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์’ และธุรกิจ SMEs ที่เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการค้าขายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

โดยในปี 67 จะจัดโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 เพื่อพาแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาแล้วไปออกงานพบปะลูกค้า รวมถึงการขายแฟรนไชส์ในราคาพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปพร้อมกันทั่วประเทศ

นายนภินทร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานสถาบันการเงิน ในการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษหรือแพ็คเกจพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจ SMEs เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นแพ็คเกจการค้าขายสำเร็จรูปที่มีมาตรฐาน ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถดำเนินธุรกิจได้เลย โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดนักธุรกิจไทยหน้าใหม่จำนวนมาก ประกอบกับเจ้าของแฟรนไชส์ก็สามารถขยายธุรกิจของตัวเองไปได้อย่างต่อเนื่อง

2. นโยบายด้านการบริหารให้เกิดความสมดุลในมิติของผู้ประกอบการ ผลักดันให้ SME และประชาชนที่สนใจทำธุรกิจสามารถเข้าถึงระบบ ‘DBD e-Learning’ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ธุรกิจด้วยตนเอง

พร้อมย้ำให้กรมฯ คอยติดตามพัฒนาหัวข้อวิชาให้มีความทันสมัยตอบโจทย์การทำธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ DBD e-Learning เป็นแหล่งเรียนรู้และเพื่อนคู่คิดให้กับ SME ในการพัฒนาทักษะด้านการประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ ตั้งแต่เริ่มต้นจนประสบความสำเร็จ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ที่ดีแล้ว สามารถต่อยอดและขยายช่องทางการค้าขายที่กว้างมากขึ้น ผ่านการค้าออนไลน์ ‘e-Commerce’ เน้นการสร้างชุมชนออนไลน์ต้นแบบ Digital Village by DBD ให้กระจายทั่วประเทศ พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน เพื่อร่วมกันส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์

“เมื่อเรากำลังอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพออนไลน์ การสร้างความน่าเชื่อ เชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจออนไลน์ผ่านตราสัญลักษณ์ DBD Registered ที่ให้บริการผ่านระบบ Trustmarkthai จึงเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องให้ประชาชนสามารถตรวจสอบร้านค้าได้โดยง่าย” นายนภินทร ระบุ

นอกจากนี้ การยกระดับธุรกิจร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ โดยอาหารไทยต้องเป็นที่รู้จักแก่นักชิมทั้งชาวไทยและต่างชาติรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเน้นหนักด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ”

3. นโยบายด้านการแก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย ได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านการพัฒนากฎหมาย ทั้ง 10 ฉบับที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมฯ ว่า ได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีในการช่วยภาคธุรกิจให้ค้าขายได้ง่ายขึ้น สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับบทบาทภาครัฐด้านการใช้กฎหมายให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจแทนการกำกับดูแล

ทั้งนี้ ขอให้มีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย โดยฟังเสียงความต้องการจากภาคธุรกิจและประชาชนเป็นหลัก โดยตนจะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงกับภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้งานจริง และพร้อมเป็นผู้สนับสนุนผลักดันกฎหมายที่จะช่วยขจัดอุปสรรคในการทำธุรกิจออกไป ประกอบกับสร้างความเข้มแข็งให้นักธุรกิจไทยได้เป็นกำลังสำคัญในการหมุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

นายนภินทร กล่าวว่า นอกจากการเร่งปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ 3 ด้านข้างต้นแล้ว ยังได้มอบภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) ที่กระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจโดยตรง และเกิดผลลัพธ์ได้รวดเร็วใน 3 ด้าน คือ

1. จัดงานแสดงสินค้าและบริการให้กลุ่มธุรกิจ SMEs เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความรู้ในการทำธุรกิจพร้อมกับสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจมีสายพานเดินต่อไปได้ โดยจะดำเนินการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค (กำหนดจัดงานต้นปี 67) นอกจากนี้ จะเร่งภาคการค้าของ SMEs ไทย ให้สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดให้ได้ 40% ของ GDP ประเทศ ภายในปี 70

2. การพัฒนาเทคโนโลยีระบบจดทะเบียนนิติบุคคล แม้ว่าขณะนี้ กรมฯ ได้เปิดให้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์ควบคู่กับการให้บริการแบบ Walk-in ไปหลายระบบแล้ว ในส่วนต่อไปขอให้เร่งรัดเปิดให้บริการระบบจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-PCL ที่สมบูรณ์ทั้งระบบ ซึ่งการใช้งานผ่านทางออนไลน์จะลดระยะเวลาจดทะเบียนเหลือเพียง 1 ชั่วโมง และลดการใช้กระดาษและการเดินทางที่เป็นต้นทุนของธุรกิจได้ 100% อย่างไรก็ดี คาดว่าจะให้บริการได้ปลายปีนี้

ในส่วนของการรองรับการให้บริการข้อมูลดิจิทัลในอนาคต ขอให้วางแผนพัฒนาระบบ e- Form เพื่อให้บริการออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมีความรวดเร็วมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชนที่ใช้บริการให้มีความคล่องตัว พร้อมทั้งรองรับและเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

3. การยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมของหอการค้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงประชาชนไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในการขอตรวจ หรือคัด และรับรองเอกสารอีกต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top