Decrypto: “ข่าวปลอม” หรือ “ข่าวผิด” เส้นบาง ๆ ที่ก่อความเสียหายไม่แพ้กัน

กระแส Bitcoin Spot ETF ที่นักลงทุนต่าง ๆ คาดหวังว่าใกล้จะได้รับอนุมัติในเร็ววันนี้ ส่งผลเป็นอย่างมากต่อราคาของ Bitcoin เห็นได้จากเหตุการณ์ที่สำนักข่าว Cointelegraph ได้ “รายงานผิดพลาด” ว่าสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติ Bitcoin Spot ETF ทำให้ราคาของ Bitcoin พุ่งขึ้นไปถึง 30,000 ดอลลาร์ แต่ต่อมา BlackRock ซึ่งเป็นผู้ยื่นขออนุมัติ ETF ได้ออกมาแจ้งว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเท็จ ทำให้ราคา Bitcoin ลดลงไปเหลือเพียง 28,000 ดอลลาร์

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่ใช้ Leverage เสียหายไปกว่า 112 ล้านดอลลาร์ในเวลาไม่กี่นาที จึงน่าพิจารณาว่านักลงทุนจะได้รับการปกป้องจาก “ข่าวปลอม” หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข่าวผิด” จากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนในประเทศไทยที่ใช้ข่าวสารเพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุนนั้นมากน้อยเพียงใด

ข่าวปลอม หรือ Fake News คือ ข่าว หรือ ข้อมูล ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง หรือ เป็นการจงใจให้ข้อมูลที่ผิดพลาดและหวังประโยชน์จากความเข้าใจผิดนั้น ซึ่งสามารถพิจารณาประเภทของข่าวปลอมได้ เช่น Clickbait หรือโฆษณาชวนเชื่อ เสียดสี การเสนอแบบลวก ๆ พาดหัวให้เข้าใจผิด เป็นต้น หากผู้รับสารไม่มีความหนักแน่นหรือพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะทำให้หลงเชื่อได้ง่าย โดยเฉพาะกรณีที่นักลงทุนกลัวพลาดการลงทุน หรือ ตกกระแส (Fear of Missing Out – FOMO) ไป จึงรีบเข้าไปลงทุนและก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับรับมือและควบคุมการเผยแพร่ข่าวปลอมหลัก ๆ อยู่ 3 ฉบับ กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น การเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งอาจมีความหมายรวมถึงการเผยแพร่ข่าวผิด จะต้องมีเจตนาพิเศษของการกระทำนั้น ๆ ทั้งสิ้น เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วางหลักว่าจะต้องกระทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือประมวลกฎหมายอาญา ที่วางหลักว่า ข้อความเท็จนั้นต้องเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาประกอบการข้อเท็จจริงข้างต้นที่เป็นการรายงานข่าวโดยทั่วไป เพียงแต่ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือมาจากแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือไม่เพียงพอนั้น จึงยากที่จะพิจารณาได้ว่าการที่สำนักข่าวนั้น ๆ จะมีเจตนาพิเศษหรือเจตนาทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือนักลงทุน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “ข่าวเท็จ” หรือ “ข่าวปลอม” นักลงทุนจะต้องตระหนักรู้ถึงการรับรู้ข่าวสารที่สามารถถูกสร้างแต่ง และเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วตามสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน โดยการใช้วิจารณญาณและการวิเคราะห์รายละเอียดองค์ประกอบของข่าวสารนั้น ๆ แม้ว่าข่าวนั้นจะถูกเผยแพร่จากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือก็ตาม

อีกทั้งองค์กรสื่อหรือสำนักข่าวก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบแหล่งข่าวและเนื้อหาข่าวมากขึ้น แม้ว่าสื่อจะมีเสรีภาพในการสื่อสารที่ได้ถูกรับรองไว้ตามกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสร้างความเข็มแข็งในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้บริโภคสื่ออีกทางหนึ่งด้วย

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top