เงินบาทเปิด 36.11 แนวโน้มผันผวน จับตาประชุม FED-BOJ-BoE สัปดาห์นี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.11 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจาก ปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.20 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุล เงินหลัก หลังบอนด์ยีลด์พักตัว

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนบาทให้แข็งค่าจากผู้ส่งออกทอง หลังราคาทองในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

“เช้านี้บาทแข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ แต่ทิศทางสัปดาห์นี้น่าจะผันผวนเพราะมีปัจจัยหลายเรื่องในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งการ ประชุม BOJ, BoE, FED การประกาศตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีราคาน้ำมัน ราคาทอง และ สถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง”

นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.00 – 36.25 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ 149.68 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 150.00 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ 1.0557 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0562 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.232 บาท/ดอลลาร์

– ธปท.แนะคลังคุมใช้จ่ายภาคการคลัง เร่งลดหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน ผวาโลกหั่นเครดิตไทย ระบุเศรษฐกิจโลกปี 2567 ยังเสี่ยงโตได้แต่ 3%

– ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ไว้ว่าจะเติบโตได้ 4.4% ซึ่งได้รวมผลจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ ชัดเจนของนโยบายดังกล่าว ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลมีการปรับรายละเอียดมาตรการ หรือลดขนาดวงเงินที่ใช้ ก็ย่อมจะส่งผลต่อการปรับลด ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างติดตามความชัดเจนของมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

– ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.สนับสนุนการพัฒนาโครงการ “แลนด์บริดจ์” อภิมหาเมกะโปรเจกต์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามันที่จะเป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทยนอกเหนือจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน ออก (อีอีซี) เพราะจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและอาเซียน

– ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือนก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0

– สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับ ตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%

– บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุม วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และนักลงทุนยังให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.9% ในเดือนที่แล้ว

– ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน และข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top