ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งร่าง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังปรับปรุงเพิ่มเติม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. …. (พ.ร.บ. PVD) และหลักการที่ปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อรองรับพัฒนาการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่จัดตั้งในรูปแบบกองทุนที่มีนายจ้างหลายรายที่ไม่ใช่กลุ่มบริษัทเดียวกัน (pooled fund) ให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่เอื้อให้ลูกจ้างเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมได้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนของโครงสร้างอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล

ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. PVD เมื่อเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้รองรับพัฒนาการของโครงสร้าง PVD มีกลไกการคุ้มครองสมาชิก รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการเงินออมของลูกจ้าง โดยผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวพร้อมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในรายละเอียด และ ก.ล.ต. ได้นำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วนั้น

ก.ล.ต. จึงยกร่าง พ.ร.บ. PVD พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายและหลักการที่ปรับปรุงเพิ่มเติม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้าง PVD ให้รองรับพัฒนาการและความต้องการใช้ PVD ในปัจจุบัน โดยเฉพาะความต้องการใช้กองทุนแบบ pooled fund ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันให้ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 3ลักษณะ คือ 1) กองทุนนายจ้างรายเดียว (single fund) 2) กองทุนหลายนายจ้าง (group fund) ซึ่ง 2 ประเภทนี้คล้ายกับโครงสร้างปัจจุบัน และเพิ่มประเภท 3) กองทุนที่บริษัทจัดการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการจัดการเงินสำรองเลี้ยงชีพคล้ายกับ pooled fund ในปัจจุบัน แต่กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเอื้อให้ลูกจ้างเลือกลงทุนได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเปิดให้มีนายทะเบียนกลางเพื่อให้นายจ้างส่งเงินให้ลูกจ้างที่มีหลายกองทุนได้สะดวกขึ้น และช่วยให้ลูกจ้างเห็นภาพรวมนโยบายการลงทุน ตลอดจนสามารถติดตามจัดการกองทุนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. ปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลและคุ้มครองสมาชิกให้ได้รับความเป็นธรรมและมีความโปร่งใส เช่น การจัดให้มีข้อมูล PVD การกำหนดหลักเกณฑ์ของเอกสารจัดตั้งกองทุน การเพิ่มความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ของนายจ้างคณะกรรมการนายจ้างลูกจ้าง และผู้จัดการกองทุนรวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นของการสะสมเงิน การจัดการเงินออม และรับเงินจากกองทุน เพื่อให้ PVD เป็นกลไกการออมและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการออมใน PVD ภายใต้เงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกอัตโนมัติ (automatic enrollment) การเพิ่มความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้แจ้งเลือกนโยบาย (default portfolio) การเพิ่มความยืดหยุ่นในส่วนของการรับเงิน การคงเงิน และการรับเงินงวด เป็นต้น

3. ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนของ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำกับดูแล PVD รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top