สำนักข่าวซินหัวรายงานข้อมูลจากสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งออสเตรเลีย (AIHW) ซึ่งระบุว่า ความรุนแรงและความเข้มข้นของคลื่นความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังทำให้จำนวนชาวออสเตรเลียที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากสภาพอากาศที่สุดขั้วนั้น เพิ่มมากขึ้น
รายงานเผยว่า จำนวนชาวออสเตรเลียที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เชื่อมโยงกับภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว อาทิ คลื่นความร้อน ไฟป่า และพายุ เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานพบว่าอากาศร้อนจัดระหว่างปี 2555-2565 ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมากกว่าสภาวะสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ 9,119 รายอันเป็นผลพวงโดยตรงมาจากสภาพอากาศสุดขั้ว ส่วนในระหว่างปี 2554-2564 มีผู้เสียชีวิต 677 ราย
เฮเธอร์ สวอนตันส์ นักวิจัยจากสถาบันฯ แถลงว่าหลักฐานชี้ให้เห็นว่าตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ภาวะอากาศสุดขั้วมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น อาทิ อากาศร้อนจัด ไฟป่า อากาศหนาวจัด เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝนและพายุ โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
รายงานยังพบอีกว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกสามปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,027 ราย ในปี 2556-2557 เป็น 1,033 ราย ในปี 2559-2560 และ 1,108 ราย ในปี 2562-2563
การสัมผัสกับความร้อนจากธรรมชาติมากเกินไปเป็นสาเหตุการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดในทุกรัฐและดินแดน ยกเว้นแทสมาเนีย ส่วนอากาศหนาวจัดครองสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของการเข้ารักษาตัวจากการบาดเจ็บ ในช่วงการวิเคราะห์ระยะ 10 ปี แต่กลับครองสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 35%
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า อาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งขึ้นในออสเตรเลีย โดยเมื่อเดือนกันยายน สำนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียประกาศการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561-2562
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)
Tags: XINHUA, คลื่นความร้อน, สภาพอากาศ, ออสเตรเลีย, อากาศร้อน