“จุลพันธ์” เผยร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่เสร็จ ปัดปักธงล้มโครงการ มั่นใจเดินหน้าต่อ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ยืนยันว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ได้มีการส่งให้กฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด โดยตามไทม์ไลน์แล้วหลังจากกระทรวงการคลังร่างกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อย ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความ หลังจากนั้นจึงส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นส่งให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ แล้วส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

“ยืนยันว่าร่างกฎหมาย ยังไม่เสร็จจากคลัง ร่างกฎหมายตอนนี้ยังไม่มี ยังไม่ได้ร่างเลย เพิ่งมีการประชุมไปไม่นาน แต่ก็ไม่รู้สึกหนักใจ ไม่มีเรื่องเป็นห่วงอะไร เพียงแต่ทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบกฎหมายเท่านั้น” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนที่รัฐบาลถูกมองว่า การเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงินในครั้งนี้ เพื่อหวังให้โครงการไปไม่ได้ นั้น รมช.คลัง ยืนยันว่าไม่มีใครคิดอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอยู่ในหัวอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่เดินหน้าโครงการ คณะทำงานมีโจทย์ชัดเจนที่ได้รับมาจากรัฐบาลก็มีหน้าที่ทำให้สำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

“ขณะนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ดี กระบวนการในการพัฒนาไปข้างหน้า หากดูจากปัจจัยในปัจจุบัน คงไปไม่ถึง และจะเกิดปัญหาในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องการดูแลสวัสดิการประชาชน การจัดทำโครงสร้างงบประมาณ การรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะประเทศ และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เศรษฐกิจเติบโตไม่ทัน ถ้าปล่อยไปในลักษณะนี้” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายดังกล่าว อาจไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น รมช.คลัง ระบุว่า เข้าใจว่าเป็นมุมมองด้านกฎหมายที่มองกันคนละมุม รัฐบาลมีหน้าที่ทำ ก็ต้องเดินหน้าให้ไปสู่สภา ไปสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา หรือจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถึงอย่างไรก็ต้องเดินหน้า รัฐบาลและคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีหน้าที่ชี้แจง และตอบประเด็นข้อสงสัยในมุมของรัฐบาล ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรอยากให้รอดู

ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าโครงการจะเดินไปต่อ เพราะการที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงินนั้น มองแล้วว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุด และรับฟังความเห็นมาเป็นอย่างดีแล้ว

“ถ้าไม่ผ่าน ก็ไม่ผ่าน แต่เรายังเชื่อว่า เราจะต้องทำให้กฎหมายผ่านให้ได้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยอมรับความจริงคือ การใช้งบประมาณ โดยการยัดเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าไปในปีเดียว ถือเป็นภาระที่สูง ทุกคนก็ต้องรู้สภาพอยู่แล้ว ส่วนการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) คือการที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายใช้ก่อน แล้วจึงไปขออนุมัติ ก็จะโดนอีกว่าวิธีนี้ไม่โปร่งใส จึงออกมาเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้ทุกฝ่ายคุยกัน หากมีคนไม่เห็นด้วย ก็ลงมติไม่เห็นชอบ เป็นสิทธิของทุกคนในสภา และวุฒิสภา ในการที่จะคิดที่จะทำ สุดท้ายถ้ามีคนไปยื่นตีความที่ไหนก็ตาม ทั้ง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะตามไปชี้แจง” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงแนวทางการกู้เงินว่า จะออกเป็นตราสารหนี้ปกติ เพราะเชื่อว่าสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอ จะไม่มีการกู้เงินมากองไว้ ซึ่งหลักการคือ เมื่อเริ่มโครงการ และภายใน 6 เดือนมีการใช้จ่ายครั้งแรก หากมีร้านค้ามาขอนำเงินออก รัฐบาลจะใช้เงินคงคลังบริหารจัดการในส่วนนี้ไปก่อน ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการกู้เงินตามที่เกิดขึ้นจริง

แต่รัฐบาลก็จะสร้างกลไกขึ้นมา เพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตหมุนอยู่ในระบบให้นานขึ้น หมุนไปเรื่อย ๆ ในระบบ 2-3 ปีตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็หมายความว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก่อน และหนี้สาธารณะจะลดลงทันที แล้วจึงไปเกิดภาระหนี้สินทีหลัง ซึ่งรัฐบาลมองว่าหนี้สาธารณะ น่าจะอยู่ในกรอบไม่เกินปัจจุบัน

“กลไกที่จะกระตุ้น ส่วนแรกจะเกิดจากภาคเอกชน หลายคนรู้แล้วว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบ กลไกในการลดแลกแจกแถม ก็จะเกิด เช่น มาซื้อด้วยดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1 หมื่นบาท ได้ของมูลค่า 1.1-1.2 หมื่นบาท ก็ทำได้ กลไกในภาครัฐเอง เรามีเครื่องมือทางการเงิน เช่น เรื่องภาษีเพื่อเป็นการจูงใจ ตรงนี้ยังเป็นเพียงการหารือ ยังไม่ได้มีการสรุป ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top