กลุ่มธุรกิจใหญ่ของไทยแห่นำเงินลงทุนในต่างประเทศ เมินเศรษฐกิจไทยซบเซา

ดีแอลเอ ไปเปอร์ (DLA PIPER) บริษัทให้บริการด้านกฎหมายรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกระบุว่า กลุ่มบริษัทไทยมีแนวโน้มเข้าซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ไม่คิดพึ่งพาเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศในการหนุนการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ นายวรานนท์ วานิชประภา หุ้นส่วนผู้จัดการประจำประเทศไทยของดีแอลเอ ไปเปอร์ระบุว่า กลุ่มบริษัทที่ครอบครัวเป็นเจ้าของและบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ มีแนวโน้มจะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน บริการการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การบริการ และค้าปลีก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า บริษัทไทยได้ประกาศการทำข้อตกลงมูลค่าประมาณ 1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2565 โดยการหลั่งไหลเข้าซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศดังกล่าวนำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ของนายธนินท์ เจียรวนนท์, กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นหรือกลุ่มทีซีซีของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้บริษัทไทยมีฐานที่มั่นคงในภาคค้าปลีก เครื่องดื่ม และพลังงานตั้งแต่ในเวียดนามไปจนถึงยุโรปและสหรัฐ

“คุณจะมองว่ากลุ่มบริษัทไทยเป็นเพียงบริษัทไทยไม่ได้อีกต่อไป บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทระดับโลกหรือระดับภูมิภาคไปแล้ว” นายวรานนท์ระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดีแอลเอ ไปเปอร์ได้ช่วยให้บริษัทไทยทำข้อตกลงจนสำเร็จลุล่วงทั้งในบรูไน เวียดนาม เม็กซิโก สหรัฐ และเยอรมนี “กลุ่มบริษัทไทยได้เร่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา”

รายงานระบุว่า การผลักดันการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยแล้วเพียง 1.9% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบอื่น ๆ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือนที่เฉียดระดับสูงเป็นประวัติการณ์และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหนึ่งทศวรรษ

ตลาดหุ้นไทยซึ่งปรับตัวเข้าสู่ภาวะตลาดหมีในเดือนนี้หลังกองทุนต่างชาติแห่เทขายหุ้นกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาบดบังแนวโน้มธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มนักลงทุนได้เทขายหุ้นไทยเนื่องจากวิตกกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่อาจพุ่งทะยานขึ้นจากแผนแจกเงินของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

แม้นายกฯเศรษฐาจะพยายามดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าไทย ตั้งแต่ภาครถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์และพลังงานใหม่ แต่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับแทบไม่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย

นายวรานนท์ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ของไทยที่ลดลงนั้นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวล

บริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น พลังงาน โทรคมนาคม และค้าปลีก ได้ถอนตัวออกจากประเทศไทยหรือควบรวมธุรกิจท้องถิ่นกับบริษัทไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเทสโก พีแอลซีได้ขายธุรกิจค้าปลีกในไทยให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์, เอ็กซอน โมบิล คอร์ปขายเอสโซ่ (ไทย) ให้กับบางจาก คอร์ป ส่วนเทเลนอร์ เอเอสเอควบรวมธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทรู คอร์ปอเรชั่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้านซิตี้กรุ๊ป อิงค์ขายกิจการลูกค้าส่วนบุคคลในไทยและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับยูโอบี กรุ๊ปของสิงคโปร์

“หากไม่มีบริษัทจีนเข้ามาตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เราจะไม่มีข้อตกลงการลงทุนมูลค่ามหาศาลในไทยมากนัก และการจากไปของบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งจะทำให้นักลงทุนเกิดคำถามว่าเพราะอะไร” นายวรานนท์ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top