SCGD ปิดเทรดวันแรก 9.80 บาท ต่ำจอง 14.78%

SCGD ปิดเทรดวันแรกที่ 9.80 บาท ลดลง 1.70 บาท (-14.78%) ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 11.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 884.75 ล้านบาท จากราคาเปิด 10.10 บาท ราคาสูงสุด 10.40 บาท ราคาต่ำสุด 9.80 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เอสซีจี เดคคอร์(SCGD) ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย และธุรกิจผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย รวมทั้งจัดหาผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย และมีร้านค้าปลีกเพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ วัสดุปิดผิวอื่นๆ และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีธุรกิจอื่น ได้แก่ การให้บริการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจติดตั้งอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ โดย SCGD เป็นบริษัทแกนนำ (Flagship company) ของกลุ่ม SCC ในธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์

บล.ทิสโก้ มองว่า ธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และธุรกิจสุขภัณฑ์มีการแข่งขันที่ไม่สูงมาก และส่วนแบ่งทางการตลาดกระจุกตัวอยู่ในผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ซึ่ง SCGD เป็นผู้นำในธุรกิจกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในอาเซียน รวมทั้งเป็นผู้นำในธุรกิจสุขภัณฑ์ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ราวร้อยละ 30 ในประเทศไทย และมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ประกอบกับนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์ลูกค้าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ดังนั้นการระดมทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานครั้งนี้จึงมีความเหมาะสม โดยเฉพาะการปรับปรุงเพื่อเป้าหมายการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ในปี 2050 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานทางอ้อม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ

โดยการแลกหุ้นของผู้ถือหุ้น COTTO คำนวณจากอัตราแลกหุ้นที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับ 2.40 บาท ต่อหุ้น COTTO 1 หุ้น กับราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่ 11.50 บาทต่อหุ้น SCGD 1 หุ้น คิดเป็นอัตราการแลกหุ้นที่ 4.7916 : 1 (หุ้นเดิม : หุ้นใหม่) ขณะที่ผู้ถือหุ้น SCC มีอัตราส่วนการจัดสรรเท่ากับ 7.8082 หุ้นสามัญเดิมของ SCC ต่อ 1 หุ้น SCGD

รายได้ธุรกิจหลักของบริษัทอิงกับการขึ้นราคาสินค้าและปริมาณการขาย ซึ่งผันแปรตามอุปสงค์วัสดุตกแต่งและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจตกแต่งพื้นผิว แต่ 1H66 รายได้เริ่มชะลอตัวลง จากปริมาณขายที่ลดลง YoY ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับรายได้ในเวียดนามที่ลดลงมากสุด เนื่องจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ ขณะที่รายได้จากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น มองว่าระยะสั้นรายได้จะลดลงตามอุปสงค์วัสดุตกแต่งที่ชะลอตัว เป็นผลมาจากอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง ด้วยประเด็นด้านอัตราดอกเบี้ย การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนหลังโควิด และการปรับประมาณ GDP ของเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ ลง (อ้างอิงจาก IMF) ขณะที่ระยะยาวคาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามต้องติดตามเรื่องอุปทานภาคอสังหาฯ ด้วยเช่นกัน

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดต่ำลง หลักๆ มาจากธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ขณะที่ธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจอื่นมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารขยายตัวขึ้น ระยะสั้นมองว่าต้นทุนพลังงานที่ลดลง YoY จะช่วยหนุนอัตรากำไรขั้นต้นให้ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ปริมาณการผลิตที่ลดลงและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดันอัตรากำไรสุทธิ หากภาคอสังหาริมทรัพย์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งบริษัทยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง มองว่าอัตรากำไรจะขยายตัวขึ้นในระยะยาว จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

ปัจจัยที่ต้องติดตาม 1.อุปทานและอุปสงค์ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม 2. โครงการต่างๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานในการผลิต 3. การขยายตลาดกระเบื้อง SPC และ LVT

ความเสี่ยง 1. ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน 2. การเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค 3.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน (DCC, DRT) ที่ 11 เท่า มองว่าราคา IPO ค่อนข้างมี Premium เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top