“ไชน่า เอาหยวน” ยื่นล้มละลายในสหรัฐอีกราย ชี้ภาคอสังหาฯจีนยังไม่พ้นวิกฤต

ไชน่า เอาหยวน กรุ๊ป (China Aoyuan Group) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนและประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงนิวยอร์กของสหรัฐเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลาย โดยการยื่นคำร้องดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลสหรัฐอนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้ในต่างประเทศ และเพื่อป้องกันการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

บริษัทไชน่า เอาหยวน ซึ่งมีหนี้สินพร้อมดอกเบี้ยในต่างประเทศทั้งสิ้น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจในฮ่องกง, หมู่เกาะเคย์แมน และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หลังจากบริษัทตัดสินใจไม่จ่ายหนี้ในปีที่แล้ว

เอกสารที่ยื่นต่อศาลแขวงนิวยอร์กระบุว่า คณะผู้บริหารของไชน่า เอาหยวน ได้รับคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษาว่าให้ยื่นขออนุมัติการปรับโครงสร้างในฮ่องกง และยื่นขอการผ่อนผันจากศาลแขวงใต้ในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐ โดยหากศาลสหรัฐไม่ให้การอนุมัติในเรื่องนี้ ทางบริษัทก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้หุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ของบริษัทไชน่า เอาหยวน ถูกควบคุมภายใต้กฎหมายของรัฐนิวยอร์ก

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงไม่พ้นวิกฤต โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงนิวยอร์กของสหรัฐ เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลาย หลังจากเอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้วิกฤตหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนลุกลามเป็นวงกว้าง

การยื่นคำร้องดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มเจ้าหนี้ในสหรัฐทำการยึดทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์ในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศอื่น ๆ

นับตั้งแต่วิกฤตหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2564 บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่มียอดขายบ้านรวมกันในสัดส่วน 40% ของยอดขายบ้านทั้งหมดในจีน ได้เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

สถานะทางการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนถูกสั่นคลอน หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% ซึ่งการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์อาจจะส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top