กำลังซื้อซบ-หนี้ครัวเรือนกดดันดัชนีค้าปลีกธ.ค.โตไม่เต็มสูบ คาดเห็นสัญญาณบวก H2/67

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ธ.ค.66 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการโหมโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี แต่ยังไม่เต็มสูบ เหตุกำลังซื้อซบเซา, หนี้ครัวเรือน, ราคาพลังงานสูง ยังเป็นปัจจัยฉุดที่รอเยียวยา พร้อมมองแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกไทย จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 67 ฝากรัฐกรุยทางสินเชื่อ SME-เร่งเครื่องภาคท่องเที่ยว-คุมสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในเดือนธ.ค.66 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 9.5 จุด จากเดือนพ.ย.66 และปรับเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบและทุกภูมิภาค จากการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้า และบรรยากาศส่งท้ายปลายปี ที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้คึกคักในระดับหนึ่ง

หากพิจารณาภาพรวมตลอดปี 2566 ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ พบว่ายังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่สมดุลในลักษณะ K-Shaped โดยส่วนที่ฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัว คือ กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกภูธร (Local Modern Store) ส่วนกลุ่มที่ทรงตัว เป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง, สมาร์ทโฟน และไอที

โดยเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดี ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ยังชะลอตัว ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ซึมยาวสะท้อนถึงกำลังซื้อยังคงอ่อนแอ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ระยะ 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.-มี.ค.67) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3 จุด อานิสงส์จากผลของมาตรการ Easy E-Receipt และแคมเปญการตลาดในเทศกาลตรุษจีน แต่ภาพรวมยังคงโตน้อย ไม่ก้าวกระโดด เนื่องจากความไม่ชัดเจนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐโดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต, การอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ที่อาจล่าช้า ส่งผลให้หลายโครงการของภาครัฐ เช่น ภาคท่องเที่ยว อาจต้องชะลอหรือเลื่อนการดำเนินงานออกไป

*คาดเห็นสัญญาณบวก H2/67 แนะรัฐเร่งเครื่องมาตรการหนุน

สำหรับ ทิศทางภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดว่า จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-5% เมื่อเทียบกับ GDP ในปี 2567 ที่คาดจะเติบโต 3.5-4.4% โดยมองว่ากลุ่มธุรกิจแบบมีหน้าร้าน (Store-based retailing) จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโควิด-19 ส่วนแบบที่ไม่มีหน้าร้าน (Non-store retailing) เช่น การขายผ่านออนไลน์ (E-commerce), การขายผ่านตู้อัตโนมัติ (Vending Machine) ฯลฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

นายฉัตรชัย ยังมองว่า ภาพรวมค้าปลีกและบริการในปี 67 โดยเฉพาะครึ่งปี หลังจะเริ่มส่งสัญญาณบวกแต่ยังต้องอาศัยแรงหนุนจากภาครัฐในการผลักดันโครงการและมาตรการต่าง ๆ ในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน มุ่งเป้าตรงจุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในระยะยาวอย่างมีศักยภาพ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และยินดีสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตค้าปลีก และบริการยุคใหม่ของไทยให้กลับมาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

*ข้อเสนอแนะแนวทางกระตุ้นค้าปลีก

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้มีข้อเสนอแนะพร้อมแนวทางเพื่อการกระตุ้นภาพรวมค้าปลีกและบริการต่อภาครัฐ ดังนี้

1. ลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในการเข้าถึงสินเชื่อของ SME

1.1 เปิดตลาดภาคการเงินเสรี ให้มีสถาบันการเงินใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านดอกเบี้ย

1.2 เปิดเผยเชื่อมโยงข้อมูลทางการการเงินที่โปร่งใส เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้บริการทางการเงิน และผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งใช้ระบบ Risk based management ในการวัดระดับความเสี่ยงของการอนุมัติการขอสินเชื่อ

1.3 เร่งจัดหากองทุน Soft loan ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับ SME ในเงื่อนไขไม่ซับซ้อนเข้าถึงง่าย เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน

2. อนุมัติเพิ่มการจ้างงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ การจ้างงานอิสระ การจ้างงานประจำรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าจ้างตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มเติมจากการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคปลีกและบริการ อีกทั้งควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill Reskill ควบคู่ไปด้วย

3. ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนครอบคลุมทุกกลุ่ม ด้วยการจัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว ชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ตามภูมิภาคต่างๆ

4. สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้วยมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะการจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างราคาสินค้า SME ของไทย

4.1 กำหนดให้มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้อง และมีนโยบายที่ชัดเจนด้านสินค้าและการบริการ เช่น สินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามศีลธรรม

4.2 ปรับรูปแบบการเก็บภาษีออนไลน์เป็นข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง (Transaction-based) โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรต้องเป็นผู้เก็บภาษีทุกครั้งที่มีการซื้อขาย

4.3 เพิ่มมาตรการเก็บภาษีสินค้า Grey Market ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี รวมทั้งเกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าของผู้ประกอบการในประเทศ

นายฉัตรชัย ยังกล่าวถึงผลการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการ ต่อกรณี “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการขอสินเชื่อ” ซึ่งดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 18-25 ธ.ค.66 มีดังนี้

1. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

– ผู้ตอบ 68% ระบุว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 63% ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถชำระได้ตามปกติ แม้ว่าภาระหนี้ที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้น และอีก 5% อาจผิดนัดชำระหนี้, ขอปรับโครงสร้างหนี้, ขอยืดเวลาชำระหนี้

– ผู้ตอบ 32% ระบุว่า ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

2. อุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน

– ผู้ตอบ 45% ระบุว่า ธุรกิจต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น แบ่งเป็น 36% สถาบันทางการเงินใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อนานขึ้น และปรับ Margin อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น, ส่วนอีก 6% ได้วงเงินสินเชื่อลดลง และอีก 3% ปรับเงื่อนไขการกู้เข้มงวดมากขึ้น

– ผู้ตอบ 55% ระบุว่า ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสินเชื่อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top