“พิธา” เปิดโรดแมป “ก้าวไกล” ยื่นซักฟอกรัฐบาล เม.ย.นี้ บริหารล้มเหลว-ทุจริต-ทำงานล่าช้า

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงโรดแมปแผนการทำงานพรรคในปี 67 ว่า ในเดือนเม.ย.นี้ พรรคจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลทำงานผ่านมาครึ่งปีแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดอภิปราย โดยเฉพาะใน 3 ประเด็น คือ 1.ความล้มเหลวในการบริหารราชการ 2.การประพฤติมิชอบและการทุจริตคอรัปชั่น และ 3.ทำงานล้าช้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้

พรรคก้าวไกล จะจัดการประชุมใหญ่สามัญในเดือนเม.ย.นี้เช่นกัน โดยจะพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรและทบทวนการทำงานใหม่ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในเรื่องใดได้ก่อน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

“เรื่องกรรมการบริหารพรรค ต้องขอให้พรรคพิจารณาก่อน ส่วนการอภิปราย ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก่อนด้วย” นายพิธา ระบุ

โรดแมปการทำงานของพรรคในด้านอื่น ๆ ช่วงต่อจากนี้ คือ ในเดือนก.พ.67 พรรคก้าวไกล จะมีการพิจารณาทบทวนตัวชี้วัดหรือ KPI ในการทำหน้าที่ของประธานกรรมาธิการ และสส.ของพรรค ส่วนเดือน มิ.ย.-ส.ค.67 จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีปี 68 และในช่วงปลายปี พรรคจะมีการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต่อไป

*เปิด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญผลักดันประเทศ

นายพิธา กล่าวว่า เป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ที่พรรคก้าวไกลดำเนินการ ประกอบด้วย 6 วาระสำคัญผลักดันเพื่อประเทศไทย ดังนี้

  1. ประเทศไทยเต็มใบ เช่น ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  2. การยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และแรงงาน

  3. หยุดแช่แข็งชนบทไทย ด้วยการลดต้นทุนภาคเกษตร การผลิต การเพิ่มแหล่งน้ำ การแปลง สปก.เป็นโฉนด และแก้ปัญหาหนี้สิน

  4. ปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ด้วยการปฏิรูประบบงบประมาณ กระจายอำนาจ ปราบโกง โปร่งใส และการกิโยตีนกฎหมาย

  5. เรียนรู้ทันโลก ด้วยการมีหลักสูตรใหม่ ลดภาระครู ตัดอำนาจนิยม

  6. เติบโตแบบมีคุณภาพ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างงานดี-ลงทุนท้องถิ่น สนับสนุน SME

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า ปีนี้พรรคก้าวไกลได้เดินหน้าผลักดันร่างกฏหมาย 47 ฉบับ ซึ่งมีกฎหมายที่เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ แล้ว 21 ฉบับ โดยมีกฏหมาย 3 ฉบับ ที่สภาฯ กำลังพิจารณา ประกอบด้วย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและมลพิษข้ามแดน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนกฏหมายที่รอการบรรจุเข้าสภา เช่น พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช., พ.ร.บ.ภาษีความมั่งคั่ง, พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร, พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นต้น

โดยกฎหมายที่เป็นเรือธง และพรรคก้าวไกลหวังผลลัพธ์เป็นพิเศษ คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร พ.ร.บ.เปลี่ยนส.ป.ก.เป็นโฉนด และ พ.ร.บ.ฝุ่นพิษฯ

สำหรับนโยบายเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไม่ได้บรรจุในแผนงานของพรรคในปีนี้นั้น นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งขณะนี้ทางพรรคยังไม่ได้หารือกัน

“ขอให้คำมั่นสัญญาว่า การทำหน้าที่ของพรรคก้าวไกล จะไม่ทำให้ผิดหวัง และจะรักษามาตรฐานการทำงานไม่ให้ต่ำกว่า 4 ปีที่ผ่านมา” นายพิธา กล่าว

สำหรับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น จะมีการพิจารณาว่ามีเรื่องใดบ้างที่สามารถการทำงานร่วมกันได้ หรือแบ่งกับว่าแต่ละพรรคเหมาะสมกับงานในส่วนใด ซึ่งจะต้องไปหารือกันในโอกาสต่อไป

นายพิธา ตอบคำถามที่ว่าพรรคก้าวไกลยังไม่เข้มข้นมากพอในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในพรรคเองหรือไม่ว่า พรรคก้าวไกลรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ในเดือนเม.ย. จะมีโอกาสอภิปรายฯ แต่หากมีเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้านั้น ก็สามารถตั้งกระทู้หรือแถลงข้อมูลให้ประชาชนรับทราบได้

ส่วนที่มีการมองว่ากระบวนการตรวจสอบของพรรคก้าวไกลอ่อนแอลง โดยเฉพาะเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายพิธา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง พรรคยังทำงานอย่างตรงไปตรงมา มีการถามกระทู้ในสภา ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นเรื่องระบบ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องความสะใจ ผู้ที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือหลี้ภัยทางการเมือง ควรได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน เป็นเหตุให้พรรคผลักดันเรื่องกฏหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิชน

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ในประเด็นนำเสนอนโยบาย มาตรา 112 เข้าสภาฯ นั้น นายพิธรา กล่าวว่า มีการประเมินฉากทัศน์ต่างๆ ไว้ รวมถึงฉากทัศน์ที่แย่สุด แต่ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลยังสามารถบริหารจัดการได้ และไม่กระทบแผนงานที่พรรควางไว้ตลอดทั้งปี

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top