เกินเป้า! ธอส.โชว์ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 66 กว่า 2.54 แสนลบ. ตั้งเป้าปี 67 โตเพิ่ม 3%

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 235,480 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 18,380 ล้านบาท คิดเป็น 7.8% ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/66 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% จากช่วงเดียวกันของปี 65 มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวม 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้และยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

ทั้งนี้ ธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50%

“ปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2566 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร ที่ถือว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา” กรรมการผู้จัดการ ธอส. ระบุ

 

  • ตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ปี 67 ที่ 2.42 แสนล้านบาท โตไม่ต่ำกว่า 3%

ขณะที่ปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 242,544 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ของเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว

นายกมลภพ กล่าวว่า ในปีนี้ ธนาคารยังมีแผนในการระดมทุนเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 97,000 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบไปด้วย การออกสลาก 10,000 ล้านบาท, กรีนบอนด์ 20,000 ล้านบาท และเงินฝาก 67,000 ล้านบาท ซึ่งการระดมทุนดังกล่าวสอดรับกับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้

 

  • เล็งขายหนี้เสีย 10,000 ลบ. เข้า AMC ของแบงก์รัฐ
ทั้งนี้ ธอส. เคยมีแผนที่จะจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แต่ทั้งนี้ หลังจากศึกษาแล้วพบว่าอาจทำให้ไม่คุ้มค่าการจัดตั้ง และที่สำคัญยังมีข้อจำกัดจากกฎหมายของธนาคารเอง ที่กำหนดให้สามารถรับซื้อหนี้เสียได้เฉพาะกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น อย่างไรก็ดี เห็นว่าขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งหนึ่ง (ธนาคารออมสิน) กำลังมีแผนที่จะจัดตั้ง AMC ขึ้น ซึ่ง ธอส.อาจจะไปเข้าร่วม โดยการขายหนี้เสียประมาณ 10,000 ล้านบาทออกไป และเชื่อว่าจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมมีสถานะดีขึ้น

“เราเคยมีแผนที่จะเปิด แต่การการศึกษาแล้ว พบว่ากฎหมายให้ทำได้เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ ก็มี SFI บางแห่งที่ทำได้ ซึ่ง ธอส.อาจจะไปขอร่วมด้วย โดยเอาสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปร่วม” นายกมลภพ กล่าว

สำหรับแนวโน้มในเรื่องการลดดอกเบี้ยนั้น หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ธอส. ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงตามเช่นกัน

 

  • เดินหน้าร่วมแก้หนี้ครัวเรือน ตามนโยบายรัฐ
นายกมลภพ กล่าวด้วยว่า  ธอส. ยังเดินหน้าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” ประกอบด้วย

1. มาตรการภาคครัวเรือน HD1 สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท(ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี

2. มาตรการภาคครัวเรือน HD2 สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท

3. มาตรการภาคครัวเรือน HD3 สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-4 จำนวน 1,000 บาท(ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี

ทั้งนี้ ได้เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application :
GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ณ วันที่ 24 ม.ค.67 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 3,853 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,544 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธอส. ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 31 มี.ค.67 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND

“มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว” นายกมลภพ กล่าว

 

นายกมลภพ กล่าวด้วยว่า ธอส. ยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน (The Best Housing and Sustainable Bank) ในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาการเชื่อมโยงพันธมิตรด้านที่อยู่อาศัยให้เติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง (Best Housing Ecosystem) ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลาย และสนับสนุนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ในปี 2567 ทั้งด้านความยั่งยืน ด้านนวัตกรรม ด้านสุขภาพ และด้านสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย

– โครงการ Resale Home Ecosystem สร้างมูลค่าเพิ่มจากระบบนิเวศที่อยู่อาศัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่ขายบ้านมือสอง

– โครงการสินเชื่อ Green Loan จัดทำผลิตภัณฑ์และทำการตลาดสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน

– โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เพื่อดูแลประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น รองรับ Aging Society และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

พร้อมกันนี้ ธอส. ยังเตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าประชาชน กับสินเชื่อบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารไม่พิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ หรือสถานะในการทำข้อตกลงประนอมหนี้ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี หรือ 4.90% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.90% ต่อปี)

และสำหรับลูกค้าใหม่ (รีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่นมายัง ธอส.) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 4% และโครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กับสินเชื่อพร้อมใช้ สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่ผ่อนชำระเงินงวด และเงินต้นลดลงอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำตามวงเงินต้นที่ลดลง เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top