พาณิชย์ โชว์ผลงาน 5 สินค้าเกษตร ราคาปรับขึ้นยกแผง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ที่มีมูลค่าตลาดรวมต่อปีไม่น้อยกว่า 800,000-900,000 ล้านบาท พบว่า ตั้งแต่เดือนก.ย.66 ถึงปัจจุบันที่รัฐบาลบริหารราชการประมาณ 6 เดือน สินค้าทุกรายการราคาขยับขึ้น และยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เมื่อเทียบราคาสินค้าทั้ง 5 ชนิดในเดือนก.พ.67 กับราคาในช่วงปี 58-66 หรือช่วง 9 ปีของรัฐบาลก่อน

– ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,995 บาท จากตันละ 13,315 บาท สูงขึ้นตันละ 1,680 บาท หรือเพิ่มขึ้น 13%, ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,181 บาท จากตันละ 8,443 บาท เพิ่มขึ้น 3,738 บาท หรือ 44%, ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,640 บาท จากตันละ 11,847 บาท เพิ่มขึ้น 1,793 บาท หรือ 15%

– มันสำปะหลัง กิโลกรัม (กก.) ละ 3.56 บาท จากกก.ละ 2.45 บาท เพิ่ม 1.20 บาท หรือเพิ่มขึ้น 45%

– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 9.84 บาท จากกก.ละ 9.10 บาท เพิ่ม 0.33 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8%

– ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 5.83 บาท จากกก.ละ 5.23 บาท เพิ่ม 1.22 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12%

– ยางแผ่นดิบชั้น 3 กก.ละ 54.51 บาท จากกก.ละ 47.17 บาท เพิ่ม 7.34 บาท หรือเพิ่มขึ้น 16%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น คือ การผลักดันการส่งออก โดยรัฐบาลร่วมมือภาคเอกชน ทั้งเร่งเจรจาซื้อขายข้าวสารให้กับคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่งผลให้ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8 ล้านตัน และผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยราคาส่งออกแป้งมัน ปัจจุบันสูงกว่าราคาเฉลี่ยปีก่อนถึง 4.6% หรืออยู่ที่กก.ละ 20.03 บาท จาก 19.15 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับเพิ่มผลิตผลสินค้าเกษตร โดยเร่งรัดผลักดันพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ตอบโจทย์ตลาดโลก ตั้งเป้าหมายผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ 535,000 ตัน ภายในปี 2570 และยังสนับสนุนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับระเบียบการค้า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกในทุกสินค้าก่อนเกิดปัญหา เช่น ข้าว ช่วยชาวนา โรงสีเก็บสต็อกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ช่วยลดต้นทุนชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น

ส่วนในระยะกลางถึงยาว ช่วยลดต้นทุนชาวไร่ชาวนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ลดต้นทุนปุ๋ย เชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูกให้แก่เกษตรกร สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยี และการตลาดสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และจำหน่าย เพื่อลดความสูญเสีย และเสียหายของผลผลิต ลดภาระด้านการเงิน ด้วยมาตรการพักชำระหนี้ และพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและชำระหนี้ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)

Tags: ,
Back to Top