กทม.เล็งชงมหาดไทยเสนอแนวทางบริหารสายสีเขียว หลัง BTS ใกล้หมดอายุสัมปทาน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.เตรียมพิจารณาแนวทางบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนที่สัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะหมดอายุในปี 2572 หรือก่อนหมดอายุสัมปทาน 5 ปี โดยได้สั่งการให้รองผู้ว่าราชการ ทำการศึกษา เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งในส่วนที่เป็นเส้นทางหลักที่อยู่ในสัมปทาน และส่วนต่อขยายที่ว่าจ้าง BTSC เดินรถถึงปี 85 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาซึ่งคาดไม่น่าเกิน 5 เดือน และจากนั้นจัดตั้งคณะกรรมการ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงจะเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะเดียวกัน คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ม.44 ที่ให้กทม.เจรจากับ BTSC ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เข้าใจว่าเรื่องค้างอยู่ที่ ครม.อยู่แล้ว ซึ่งได้รวมเรื่องการจ่ายหนี้ งานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 หรือ E&M ซึ่งหลังจากสภากทม. อนุมัติการจ่ายเงินส่วนนี้ออกไป คำสั่ง ม.44 น่าจะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดีสุดท้าย ครม.ต้องพิจารณาทั้งหมด

“อยากจะทำให้รอบคอบ ตอนนี้ก็ถึงเวลา 5 ปีแล้วก่อนอายุสัมปทานจะหมดลงในปี 72 โดยจะเข้าพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ โดยจะทำการศึกษาสายสีเขียวดูภาพรวมทั้งหมด ได้ข้อสุปก็ตั้งคณะกรรมการฯ และนำเข้าครม.พิจารณา” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

นายชัชชาติ ยังกล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.) กทม.จะหารือระหว่างสำนักการจราจรและขนส่ง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) พื่อเจรจาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินภายใต้กรอบงบประมาณ ในโครงการงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวนเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท โดยสภากทม.ให้ กทม.เร่งจ่ายโดยเร็ว เพราะเกรงจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชันนั้น กทม.กำลังศึกษาอยู่ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะเป็นเส้นทางที่ใช้แนวตรงกลางที่มีอยู่ ซึ่งกรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นรถไฟฟ้ายกระดับ เบื้องต้นคาดว่าจะทำในรูปแบบ PPP

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ และสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ กทม.จะโอนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ เพราะมีแนวเส้นทางตัดผ่านโครงข้ายของ รฟม.และเรื่องจ่ายค่าแรกเข้า ก็จะทำให้สะดวกมากกว่า

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจ MOVE ของ BTS คาดว่า บริษัทจะได้รับเงินค่า E&M จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทภายใน มี.ค.67 หรือไตรมาส 4 งวดปี 66/67 (ม.ค.-มี.ค.67) โดยจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดมากขึ้น แต่คงไม่ช่วยงบกำไรขาดทุนเพราะบันทึกไปก่อนหน้าแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top