นับหนึ่ง! กมธ.นิรโทษกรรมฯ กำหนดกรอบทำงาน 60 วัน จ่อเชิญ “คณิต-โคทม” ร่วมหารือ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุมในนัดแรกว่า ในการประชุมครั้งหน้า จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยมีประสบการณ์ในการทำนิรโทษกรรม และความปรองดองมาให้ความคิดเห็น อาทิ นายคณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์, นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มาให้ความรู้จากประสบการณ์ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมมาพอสมควรแล้ว

ส่วนกรอบการทำงานของ กมธ. จะมีการคุยรายละเอียดกันครั้งหน้า ซึ่งเมื่อฟังการอภิปรายในการประชุมสภาฯ ดูเหมือนพรรคการเมืองทั้งหลาย อยากให้มีการนิรโทษกรรม เพื่อให้นำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ บางพรรคเสนอเป็นกฎหมายมาแล้ว

“ปัญหาใหญ่ที่ กมธ.ต้องถกคิด คือจะนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมเพียงใด เป็นสิ่งที่สังคม และพรรคการเมือง กำลังโต้เถียงอยู่ในขณะนี้ กมธ.คงต้องไปศึกษาว่าจะครอบคลุมการกระทำอะไร เวลาใด บุคคลใด ซึ่งจะมีการหารือกัน หากท้ายที่สุดเห็นควรว่าจะนิรโทษกรรม เราจะไปถึงขั้นยกร่างหรือไม่ เพราะหน้าที่ของเรา คือการศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจจะต้องมีการถามให้รอบคอบ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จ ส่วนแนวทางการพิจารณานิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ที่มีความเห็นต่าง และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ต้องฟังความคิดเห็นกัน อย่าไปด่วนสรุป ว่าจะมี หรือไม่มีอะไร ต้องดูรอบด้าน อย่าไปถึงขั้นฟันธงเลย” นายชูศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก กมธ.นิรโทษกรรมฯ ยืนยันว่า จะนำร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับมาพูดคุยและนำมาสรุปทั้งหมด รวมถึงร่างของภาคประชาชนที่จะเสนอมาด้วย เพราะแต่ละฉบับมีข้อดีข้อเสีย หากมีประเด็นเกี่ยวกับต่างประเทศ ก็จะเชิญตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศมาให้ความเห็นด้วย

โดย กมธ.นิรโทษกรรมฯ จะประชุมทุกวันพฤหัสบดี ในเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งที่ประชุมสภาฯ กำหนดระยะเวลาให้ศึกษา 60 วัน หากเสร็จไม่ทัน ก็จะขอขยายเวลาออกไป

ขณะที่นายยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต กลายเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร ทุกยุคทุกสมัย เพื่อใช้ในการนิรโทษกรรมตัวเอง ถ้าเรามองกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือเพื่อทางออกร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้

ส่วนจะรวมการนิรโทษกรรม คดีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น นายยุทธพร กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง มาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความสำคัญประการหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา มีบุคคลที่ต้องคดีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีกระบวนการในการใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง จึงต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ มีการเปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย

เพราะฉะนั้น การพูด และมองอย่างรอบด้านในประเด็นนี้ จะต้องหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อให้สามารถคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งสำคัญตรงนี้ได้พอสมควร

“ยังเชื่อมั่น ว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัย และบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดให้คนทุกกลุ่ม ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีวุฒิภาวะ” นายยุทธพร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 67)

Tags: ,
Back to Top