BTS นัดบอร์ดถกขายทิ้ง KEX หรือไม่ก่อน “เอสเอฟ” ปิดโต๊ะเทนเดอร์ฯ หลังรับผลขาดทุนอ่วม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้น บมจ.บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท ในระหว่างวันที่ 13 ก.พ.-22 มี.ค.67 นั้น คณะกรรมการบริษัท BTS จะมีการนัดหารือกันว่าจะตัดสินใจขายหุ้น KEX ที่ถืออยู่ทั้งหมดออกไปหรือไม่ หรือขายออกบางส่วน ก่อนที่จะสิ้นสุดวันรับซื้อหลักทรัพย์ตามคำเสนอซื้อ

ปัจจุบัน บมจ. วีจีไอ (VGI) ถือหุ้น KEX จำนวน 269,230,900 หุ้น คิดเป็น 15.45% และ BTS ถือ KEX จำนวน 88,100,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.06%

BTS แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 งวดปี 66/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น จำนวน 4,762 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการบันทึกรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ได้แก่

(1) การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX

(2) ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ของ บมจ.แรบบิท โฮลดิ้งส์

(3) ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 53.2% จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (ซึ่งรวมถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าดังกล่าวข้างต้น) บริษัทรายงานกำไรสุทธิหลังปรับปรุงแล้ว 144 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ 2.1%

โดยบริษัทมีรายได้รวม 6,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% หรือ 251 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก 1) รายได้จากการให้บริการรับเหมา เพิ่มขึ้น 217 ล้านบาท จากการเร่งงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู 2) รายได้จากการบริการและการขายเพิ่มขึ้น 197 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถูกหักกลบบางส่วนด้วยกำไรจากการขายและเปลี่ยนสถานะเงินลงทุนที่ลดลง 185 ล้านบาท

ด้านค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้น 122.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 10,114 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX

สำหรับงวด 9 เดือนงวดปี 66/67 บริษัทบันทึกรายได้รวม จำนวน 19,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% หรือ 1,862 ล้านบาท จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจาก

(1) รายได้ดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้น จำนวน 919 ล้านบาท

(2) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการและการขาย จำนวน 500 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้ธุรกิจ MIX และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นครั้งแรก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ภายใต้ธุรกิจMOVE

(3) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการรับเหมา จำนวน 453 ล้านบาท จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง

BTS บันทึกขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นในงวดดังกล่าว 5,277 ล้านบาท จากผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวของผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในแรบบิท โฮลดิ้งส์ และ JMART รวมถึงส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนใน KEX และ (3) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

แต่หากหักรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (ซึ่งรวมถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าดังกล่าวข้างต้น) บริษัทรายงานกำไรสุทธิหลัก จำนวน 196 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ(ก่อนรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ หลังหักส่วนที่เป็นของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย) อยู่ที่ 1.1%

ขณะที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่มบริษัท โดย BTS จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดที่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BTS ถือหุ้น 98.23%) ถือใน VGI จำนวน 3,320,656,950 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็นราว 29.66% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ VGI ในราคาหุ้นละ 1.70 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 5,645,116,815 บาท ซึ่งจะทำให้ BTS ถือหุ้น VGI เพิ่มขึ้นจากเดิม 31.30% เป็นราว 60.97% ส่งผลให้ VGI เปลี่ยนสถานะมาเป็นบริษัทย่อยทางตรง

“การปรับโครงสร้างดังกล่าว เพื่อสร้างความชัดเจนในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ที่ต้องการให้ BTSC เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ MOVE ขณะที่ VGI จะเป็นหัวหอกในกลุ่มธุรกิจ MIX” นายสุรพงษ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top