ญี่ปุ่นปรับลดมุมมองเศรษฐกิจในเดือนก.พ. เหตุการใช้จ่ายของผู้บริโภคซบเซา

รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดมุมมองของเศรษฐกิจในเดือนก.พ.เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคซบเซา ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคในการออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเติบโตของอัตราค่าจ้างที่ชะลอตัวและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ปรับลดการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยระบุว่า การฟื้นตัวเหมือนจะหยุดชะงัก ซึ่งสร้างความท้าทายสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่กำลังแสวงหาแนวทางในการยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษในปีนี้

การปรับลดมุมมองเศรษฐกิจดังกล่าวมีขึ้นหลังทางการญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาส 4/2566 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะการเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี

“เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง แม้ดูเหมือนว่าชะลอตัวลงในช่วงนี้” สำนักงานคณะรัฐมนตรีระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันพุธ (21 ก.พ.) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลปรับลดมุมมองของเศรษฐกิจนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566

การปรับลดการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวที่ชะลอลงของการใช้จ่ายด้านบริการ และการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (non-durable goods) ลดลง เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นราคา

สำหรับค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นปรับตัวลงติดต่อกัน 21 เดือนในเดือนธ.ค. เนื่องจากเงินเดือนเพิ่มขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ และยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ การระงับการผลิตและการจัดส่งยานยนต์บางส่วนส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับลดแนวโน้มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 โดยระบุว่า ขณะที่คาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัว กิจกรรมการผลิตกลับปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 67)

Tags: , , ,
Back to Top