เงินบาทเปิด 35.61 แข็งค่ารับดอลลาร์อ่อนหลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.61 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็น วานนี้ที่ระดับ 35.71 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าเทียบท้ายตลาด เมื่อคืนนี้ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ประกอบกับประธาน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่า เฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามวันนี้ คือ Flow เม็ดเงินต่างชาติ และทองคำ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลาง ยุโรป (ECB) ด้วย

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.50 – 35.75 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยน อยู่ที่ระดับ 148.60 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 149.74 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0900 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0870 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.759 บาท/ดอลลาร์

– “เศรษฐา” เดินหน้าโรดโชว์ ร่วมประชุม สุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย พบ 4 ผู้นำประเทศ “6 บิ๊กธุรกิจแดนจิงโจ้” ยันเกิดประโยชน์สูงสุดคนไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาความตกลงด้านดิจิทัล สร้างมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ชวน ลงทุนแลนด์บริดจ์ พลังงานสะอาด

– อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนม.ค. 67 มีมูลค่าการค้ารวม 141,164 ล้านบาท ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 75,046 ล้านบาท (+4.8%) และการนำเข้า 66,119 ล้านบาท (-0.02%) โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2567 ทั้งสิ้น 8,927 ล้านบาท

– “ธนาคารโลก” จ่อปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 67 จากที่คาดว่าจะโตได้ 3.2% จากปัจจัยงบประมาณล่าช้า ผลกระทบ เศรษฐกิจโลก-จีนชะลอตัว แต่ยังมอง “ดอกเบี้ยนโยบาย” อยู่ในระดับเหมาะสม “กกร.” เผย เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย ส่งออกไม่ฟื้น หนี้ครัวเรือนพุ่ง หวังงบรายจ่ายรัฐปี 67 เสร็จปลุกใช้จ่าย จ้างงาน

– ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่งใน เดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 111,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.

– สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลงสู่ระดับ 8.86 ล้านตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่ง เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.85 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 8.89 ล้าน ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 5.7 ล้านตำแหน่งในเดือนม.ค. จากระดับ 5.8 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค.

– หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของแจนนีย์ มอนต์โกเมอรี่ สก็อตต์ในฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยช่วย เพิ่มความหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดแรงงาน

– ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเมื่อวานนี้ (6 มี.ค.) คาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หาก เศรษฐกิจมีการปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี เฟดยังไม่มีกรอบเวลาชัดเจนสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับ ลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะทำให้เฟดมีความเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับเงินเฟ้อ ซึ่งก็จะทำให้เฟดต้องกลับมาขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยอีก แต่การที่เฟดรอนานเกินไปก็มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

– ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิส ระบุในวันพุธ (6 มี.ค.) ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นนับ ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ของสหรัฐมีแนวโน้มจะรองรับให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เพียง 2 ครั้ง หรืออาจจะแค่ครั้งเดียวในปีนี้

– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (6 มี.ค.) หลัง ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อสภาคองเกรสว่า เฟดยังคงคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ แม้ความคืบหน้าในการ ควบคุมเงินเฟ้อยังไม่แน่นอนก็ตาม

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มขึ้นในการซื้อขายเมื่อวันพุธ (6 มี.ค.) ขานรับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลาง สหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

– จับตาผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันนี้ ซึ่งคาดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4% และจะหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาที่ ECB จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

– นักลงทุนจะรอดูการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะตลาดแรง งานที่ชัดเจนมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top