KWM กดปุ่มสตาร์ทโรงสกัดพืชสมุนไพร 14 มี.ค.ชูจุดเด่นนวัตกรรม nano แชร์ตลาด 2 แสนล้าน

บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (KWM) ได้ฤกษ์เดินเครื่องโรงสกัดพืชสมุนไพรผลิตเชิงพาณิชย์ส่งสินค้าให้กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม ยา เครื่องดื่ม เพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ 14 มี.ค.นี้ ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรที่สามารถสกัดสารระดับนาโน (nano) รายแรกของโลก พร้อมผนึก ” K-Lab” ตรวจสอบมาตรฐานสารก่อนส่งมอบให้ลูกค้า

นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร KWM และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด (KWHB) ซึ่งดำเนินธุรกิจสกัดสารสำคัญจากพืช สมุนไพรไทยรวมถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากพืชสมุนไพร กล่าวว่า KWHB ใช้งบลงทุนราว 40 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงงานและการติดตั้งเครื่องสกัดเพื่อสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพร

ล่าสุด โรงงานสกัดดังกล่าวสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรไทยได้ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.นี้ คาดว่าจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าตามออเดอร์ในไตรมาส 2/67 ซึ่งจะรับรู้รายได้ทันที คาดว่าปีนี้จะรับรู้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวประมาณ 10 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้าสารสกัดในไทยราว 2 แสนล้านต่อปี เชื่อว่ายังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก

ปัจจุบันโรงสกัดมีขนาดกำลังการผลิต 200 กิโลกรัมต่อวัน จุดเด่นคือนวัตกรรมเทคโนโลยี เครื่องจักรที่สามารถสกัดสารระดับ nano ที่มีขนาดเล็กมากส่งผลดีต่อการดูดซึมสารสำคัญในระดับเซลล์ การออกฤทธิ์อาจมีความสามารถเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน โดยเครื่องจักรนี้ใช้ระบบอุลตร้าโซนิคไดนามิคเป็นเครื่องแรกของโลก ซึ่ง สวทช. ได้ส่งไปตรวจยืนยันกับสิทธิบัตรโลกแล้วว่ามีสาระสำคัญถึง 6 ประการที่ไม่มีใครคิดและเคยผลิตมาก่อน จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยจนประสบความสำเร็จ

บริษัทจะเริ่มสกัดสารจากมะขามป้อมเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นมีแผนสกัดสารสำคัญจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ ดาวเรือง ขมิ้นชัน เป็นลำดับถัดไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญจากสารสกัดที่ได้จากพืชสมุนไพรสำหรับการรักษาโรคแบบถาวร แทนการใช้ยาที่ใช้สารเคมี

ล่าสุด มีกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการมาขอซื้อสารสกัดจาก KWHB แล้วหลายราย อาทิ โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลอภัยภูเบศร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลนครพนม เป็นต้น เพื่อนำสารสกัดที่ได้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในกลุ่มสินค้าประเภทยา เครื่องดื่ม อาหารเสริม เครื่องสำอาง และอื่นๆ

สำหรับ KWHB เป็นบริษัทร่วมทุน (JV) ระหว่าง KWM ถือหุ้น 51% และกลุ่มพันธมิตรจากจีน คือ Liangtian Agriculture and Forestry Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตยาจีนรายใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง

ปัจจุบัน KWHB มีเครื่องจักรชุดเดียว (เครื่องสกัดอุลตร้าโซนิค, เครื่องสกัด(CO2), เครื่องระเหยความเร็วสูง และ เครื่อง Vacuum Spray Dryer) แต่ในอนาคตก็มีแผนจะสร้างเครื่องจักรชุดที่ 2 และ ชุดที่ 3 เพิ่มขึ้น เพื่อต่อยอดและขยายการรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเครื่องสกัดของ KWHB สามารถสกัดได้หลายวิธี เช่น สกัดด้วยน้ำ สกัดด้วยแอลกอฮอล์ สกัดด้วยกรด และสกัดด้วยระบบ Super critical fluid extraction (CO2) ที่พัฒนาเครื่องจักรจาก KWM ส่วนเครื่องอุลตร้าโซนิคไดนามิก เป็นเครื่องที่มีสิทธิบัตรลิขสิทธิ์ถูกต้องของ KWHB ที่สำคัญเราเป็นรายเดียวในโลกที่สามารถสร้างเครื่องจักรนี้ได้

นายเอกพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอาหารเสริมที่ใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรได้รับความนิยมสูง เนื่องจากใช้เวลาในการผลิตเร็วกว่าการผลิตเป็นยา ดังนั้นจึงทำให้สารสกัดจากสมุนไพรเป็นหนึ่งในสารสกัดที่ได้รับความนิยมสูงในการนำเข้าไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารเสริม ส่งผลให้การสกัดของเราต้องยิ่งมีคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสากล และจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ KWHB จึงได้ผนึกกับบริษัท K-Lab จำกัด เพื่อใช้ห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ (Lab) สำหรับตรวจสอบคุณภาพสินค้า รวมถึงเครื่องตรวจสอบสายพันธุ์ ก่อนจะนำมาสกัดสารเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพคงที่และดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม KWHB มีทีมวิจัยจะพัฒนาและผลักดันให้สมุนไพรไทยสู่การเป็นสมุนไพรโลก ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หลอมรวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยเครื่องมือสกัดสมุนไพรที่ทันสมัย ห้องแล็บที่มีมาตรฐานสูงทีมบุคลากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญ ขณะเดียวกันมองว่างานวิจัยก่อให้เกิดนวัตกรรม และนวัตกรรม จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ KWM ในปี 67 นายเอกพันธ์ คาดว่า รายได้รวมเติบโต 20% จากปี 66 โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจนอกกลุ่มสยามคูโบต้า และบริษัทยังมีแผนขยายไปต่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการรับรู้รายได้ธุรกิจสกัดสารพืชสมุนไพร ขณะที่ธุรกิจคูโบต้าคาดปีนี้ทรงตัวจากปัญหาภัยแล้ง

ธุรกิจนอกกลุ่มคูโบต้า บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ปีนี้ราว 100 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 60-70 ล้านบาทในปี 66 เนื่องจากบริษํทเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่เพิ่มเติมอีก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ยังมุ่งหน้าขยายตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อในเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว และปีนี้มีแผนขยายไปยังประเทศแถบยุโรป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top