“เวียดนาม” ขึ้นหัวแถว CLMV ศก.ฉายแววสดใส อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยว

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจในกลุ่ม CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2567 ชูเวียดนามโดดเด่น จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกสินค้า และท่องเที่ยว หนุนอุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน คาดระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV ได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติที่ขยายการลงทุนในภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ China +1 เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินทิศทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา เวียดนาม) อัตราการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชา และเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (NPL) สูงขึ้น หลังมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดง และคลองปานามาที่แห้งแล้ง และอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

– ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

SCB EIC มองว่า ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้ กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้

ขณะที่เมียนมา เป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2564 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก มีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่ง และโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

โดย SCB EIC ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูงสุดในกลุ่ม CLMV อยู่ที่ 6.3% (จาก 5.1% ในปี 2566) รองลงมา คือ กัมพูชา ขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2566) สปป.ลาว ขยายตัว 4.7% (จาก 4.5% ในปี 2666) และเมียนมา ขยายตัว 3.0% (จาก 2.5% ในปี 2566)

– ค่าเงิน

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง ตามธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่มีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

– การค้า การลงทุน

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้ จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก

ทั้งนี้ ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top