S&P คาดแผนการคลังระยะกลางของไทยช่วยกระตุ้นศก. แต่เสี่ยงกระทบสถานะการคลัง

เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ และฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้แสดงความเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะทำให้สถานะการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุล (Fiscal Consolidation) นั้น อาจเผชิญกับอุปสรรค หลังจากคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.42% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากระดับ 3.56% ของตัวเลข GDP

สำนักข่าวบลูมเบิร์รายงานว่า เอสแอนด์พีและฟิทช์ต่างก็มองว่า แม้แผนการคลังระยะปานกลางของไทยจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

นายแอนดรูว์ วูด นักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า ไทยอาจจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ปีหน้า อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลปรับแผนการคลังระยะปานกลางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอในขณะนี้ อย่างไรก็ดี นายวูดคาดว่า ในระยะกลางนั้น แผนการคลังดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังคงฟื้นตัว และอุปสงค์ในต่างประเทศจะเริ่มมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ นายวูดยังกล่าวว่า ระยะเวลา, ขนาด และการบังคับใช้โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ทางด้านนายจอร์จ ซู เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดการณ์ในทำนองเดียวกันว่า ไทยจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของรัฐบาลในการทำให้สถานะการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุล

นายซูยังคาดการณ์ด้วยว่า เมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มมีผลบังคับใช้ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภคของไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% ในปี 2567 และ 3.5% ในปี 2568 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้นหลังจากขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566

การแสดงความเห็นของฟิทช์และเอสแอนด์พี มีขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางเมื่อวันอังคารที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้น 157,200 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 713,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้าที่ได้จัดทำแผนการคลังฯ ไว้เมื่อปี 2566 โดยพบว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังเผชิญปัญหาจากทั้งปัจจัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งปัจจัยในประเทศ คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top