โจทย์ยาก กนง. ลด-คงดอกเบี้ย รอบ่ายนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ย หรือไม่ลดดอกเบี้ย ดังนี้

1. ถ้าไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งหอการค้าไทยมีมุมมองนี้ เนื่องจากธปท. ส่งสัญญาณมาตลอดว่าเงินเฟ้อไทย ไม่รวมราคาพลังงานจะอยู่ในกรอบประมาณ 1-3% และธปท. ส่งสัญญาณมาตลอดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้น ภายใต้งบประมาณแผ่นดินปี 67 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาในเดือนเม.ย. และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า ตลาดหุ้นบวก 25 จุด เป็นผลจากการที่คนคิดว่างบประมาณแผ่นดินจะกลับมาใช้ปกติ

ดังนั้น เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป และจะเด่นขึ้นในไตรมาส 3/67 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ยังเหมาะสมที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นในกรอบที่หลายคนคาด คือ 2.7-2.8% นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยไทยยังต่ำสุดในอาเซียน และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเอเชีย ที่สำคัญคือค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 36-37 บาท/ดอลลาร์ การที่ลดดอกเบี้ยก่อนคนอื่นจะทำให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจไทยที่มีต่อนักลงทุนน้อยลง ทำให้เกิดภาวะเงินไหลออก ทำให้มีเงินคล่องตัวในระบบเศรษฐกิจน้อยลง

ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยยังเป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจต้องการการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อหลุดเป้าหมาย ถือเป็นการยอมรับว่าเศรษฐกิจซบเซา และซึม อย่างไรก็ดี สัญญาณของเงินเฟ้อติดลบหรือเงินฝืดเป็นสัญญาณทางเทคนิคเท่านั้น ยังไม่ได้ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยซึมตัวลง

ในทางกลับกัน ถ้าธปท. ไม่ลดดอกเบี้ย จะเป็นการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยตอนนี้มีความเหมาะสมที่ทำเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และอยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับทิศทางของการปรับตัวของดอกเบี้ยของธนาคารกลางโลก ซึ่งความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อยังมีอยู่ จากราคาพลังงานภายใต้ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งต้องจับตาว่าสหรัฐฯ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% จริงหรือไม่ อาจทำให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยน้อยลงได้ ซึ่งสัญญาณเหล่านี้เป็นความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางดอกเบี้ย ทำให้ธปท. อาจไม่ลดดอกเบี้ย

“การที่ไม่ลดดอกเบี้ย เป็นการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยไทยเหมาะสมในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นที่ 2.7% คาดฟื้นช่วงปลายไตรมาส 2/67 ถึงสิ้นปี โดยมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และอสังหาริมทรัพย์กระตุ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

2. ถ้าลดดอกเบี้ย โดยมองสมมุติฐานว่านักลงทุนทั่วไปไม่ได้มองว่า ธปท. ถูกแรงกดดันจากรัฐบาล เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจากแรงกดดันของรัฐบาลหรือสังคม จะทำให้ธปท. สูญเสียการเป็นกลาง ซึ่งมองว่า การที่ธปท. ลดดอกเบี้ยจะเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจล้วนๆ ซึ่งแสดงว่า ธปท. มองว่าดอกเบี้ยขณะนี้ต้องลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมจากนโยบายการคลัง เนื่องจากเงินเฟ้อไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 0.4% อาจเป็นเหตุผลที่ ธปท. ใช้เป็นเหตุผลในการลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งถ้าลดจะเป็นการลดดอกเบี้ยในเอเชียประเทศแรก ยกเว้นจีนที่มีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โตได้ไม่ต่ำกว่า 2.7%

*คาดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 2.2-3.4 แสนลบ.

สำหรับมาตรการของรัฐบาลเรื่องอสังหาริมทรัพย์ คาดทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2.2-3.4 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับการประเมินของภาครัฐที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นได้ประมาณ 1.4-1.8% ขณะที่หอการค้าไทยประเมินไว้ที่ประมาณ 1.3-1.9%

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามว่า มาตรการกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์จะมีผลอย่างไร ซึ่งถ้าธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยจะสอดคล้องกับการสนับสนุนให้คนซื้อบ้านง่ายขึ้น ทั้งนี้ ประเมินว่าการลดดอกเบี้ยของธปท. 0.25% จะกระตุกเศรษฐกิจขึ้นประมาณ 0.2-0.3%

อย่างไรก็ดี ถ้ามีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด จะทำให้มาตรการมีผลในช่วงไตรมาส 3-4/67 แต่ถ้าธปท. ลดดอกเบี้ยในรอบเดือนเม.ย. น่าจะช่วยเร่งให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์มีผลตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/67 นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ย จะมีผลต่อการลดภาระของการชำระหนี้ของประชาชน ทำให้มีการกู้เพิ่มได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top