กทม. สั่งทุกเขตเร่งค้นหา “กากแคดเมียม” ต่อเนื่อง-ตรวจสอบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการของ กทม. ภายหลังตรวจพบแคดเมียมในพื้นที่เขตบางซื่อว่า กทม. มีการประสานการทำงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันเสาร์ภายหลังทราบข่าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีโอกาสที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ แน่นอน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน

ซึ่ง กทม.ได้สั่งการให้ทุกเขตตรวจสอบโรงหล่อ-โรงเคลือบในพื้นที่ให้แล้วเสร็จหลังสงกรานต์ โดยแจ้งรูปพรรณสัณฐานวัตถุต้องสงสัยว่าเป็น Big Bag ขนาดบรรจุประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร มีตัวอักษร P และวันที่หน้าถุง หากพบให้รีบแจ้ง และไม่สัมผัสวัตถุต้องสงสัยนั้นเด็ดขาด

สำหรับเหตุที่เขตบางซื่อนั้น ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตไปแจ้งความตามกฎหมาย ในเรื่องของการเก็บสารอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปปิดด้านหน้าและโดยรอบพื้นที่

ผู้ว่าฯ กทม. ได้ย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องการแพร่กระจายของแคดเมียม แต่เรื่องการเคลื่อนย้าย ต้องดูให้แน่ใจและปลอดภัย หัวใจไม่ใช่เรื่องของเวลา หรือความเร็วในการเคลื่อนย้าย แต่เป็นกระบวนการที่จะต้องไม่ให้เกิดการตกหล่นระหว่างเส้นทางการเคลื่อนย้าย ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า

ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดถึงความคืบหน้าการตรวจสารปนเปื้อนว่า วันนี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กทม. และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อกำหนดแนวทางการแยกกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เบื้องต้นจะมีการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 20 รายก่อน ทั้งกลุ่มคนงาน และกลุ่มผู้ที่เข้า-ออกในโรงงานเป็นประจำ

จากนั้นในช่วงบ่ายของวันนี้ กรมควบคุมมลพิษจะตรวจการปนเปื้อนของดินและน้ำอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการรั่วไหลหรือปนเปื้อน

สธ.ลงพื้นที่บางซื่อ เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากแคดเมียม

ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกากแคดเมียม กรณีตรวจพบกากแคดเมียมในโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางซื่อ น้ำหนักประมาณ 150 ตัน มีคนงานทำงานในโรงงาน 22 คน ซึ่งอาจจะสัมผัสใกล้ชิด โดยขณะนี้ สำนักงานเขตบางซื่อ ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่อันตราย ห้ามอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เนื่องจากเป็นสารอันตรายส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.อภิชาต กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตรวจคัดกรองสุขภาพ และตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของประชาชนเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ เช่น ความรู้ทั่วไป อันตราย และวิธีการป้องกัน รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมให้คำปรึกษาและศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สารแคดเมียม เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่างๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก เป็นต้น สามารถพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ รวมทั้งพบแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้าน หรืออาคาร เมื่อร่างกายได้รับสารแคดเมียมเข้าไป จะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ เป็นต้น หลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก หรือที่รู้จักกันในโรคอิไต อิไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

“เนื่องจากกากแคดเมียมดังกล่าว ส่วนใหญ่ เก็บไว้ในถุงขนาดใหญ่ในโรงงานมิดชิด ประชาชนทั่วไปจึงมีความเสี่ยงน้อยที่สัมผัสหากไม่ได้ทำงานในโรงงาน หรือเตาหลอมโลหะ แต่จะสัมผัสจากการฟุ้งกระจาย ไปติดตามพื้นบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งฟุ้งไปไม่ไกล ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยมาตรการ ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้การดูดฝุ่นหรือผ้าชุบน้ำเช็ด ทำความสะอาดแทนการกวาดบ้าน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารและดื่มน้ำ ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงควรสังเกตอาการตนเองหรือหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองหลอดลม มีประวัติเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงทันที” นพ. อภิชาต กล่าว

อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นคนงานที่ปฏิบัติงานในโรงงานที่มีกากแคดเมียม ต้องสวมชุดและหน้ากากป้องกันตัวตามมาตรฐาน สำหรับประชาชนทั่วไป ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่รอบข้าง ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน หรือพื้นที่ที่พบแคดเมียม

2.หากมีการสูดดมไอระเหยจากการหลอมเข้าไป ให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์

3.หากผงฝุ่นเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์

4.หากเผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามทันที อย่างน้อย 2 แก้ว

5.หากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top