นายกฯ หารือเอกชนนิวซีแลนด์ ร่วมสร้างมูลค่าการค้าใน 4 สาขาศักยภาพ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้พบปะหารือกับ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พร้อมคณะผู้แทนภาคเอกชนนิวซีแลนด์ โดยมีผู้แทนระดับสูงของภาครัฐนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชนนิวซีแลนด์ จำนวน 8 บริษัท/หน่วยงาน ใน 4 สาขา ได้แก่ การเกษตรและอาหาร, พลังงาน, บริการและการศึกษา และเรือยนต์และการบิน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนภาคเอกชนฯ โดยเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะได้หารือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ โดยรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างระยะยาว เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ชื่นชมนายกรัฐมนตรีของไทย ที่มีบทบาทกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ เป็นโอกาสสำคัญที่ได้นำผู้แทนจากภาคธุรกิจชั้นนำของนิวซีแลนด์ ในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งนิวซีแลนด์เชื่อมั่นว่าการบูรณาการความร่วมมือด้านการเกษตร จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

สำหรับประเด็นความร่วมมือสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน มีดังนี้

1. ด้านการเกษตร บริษัท Fonterra สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ เห็นพ้องถึงการสนับสนุนเกษตรรายย่อย หรือฟาร์มขนาดเล็ก การสร้างแหล่งทรัพยากรน้ำให้เพียงพอ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักการสำคัญควรคำนึงถึงการสร้างความไว้วางใจ และการเพิ่มบทบาทให้กับเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ บริษัท Fonterra ได้แนะนำถึงการทำงานร่วมกับบริษัทผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ในระดับโลก เพื่อสร้างตลาดและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์รายย่อยทั้งหมด สู่สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ระดับชาติ เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังต่างประเทศ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เห็นพ้องถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรกรรม โดยไทยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี ค.ศ.2065 ซึ่งการทำนาข้าวของไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนด้วย

ด้านนิวซีแลนด์ กล่าวว่า การมี AgriZero NZ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และเกษตรกร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคปศุสัตว์ ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ เช่น การตัดต่อพันธุกรรมของหญ้าที่มีอัตราการปล่อยก๊าซต่ำ ซึ่งสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้ โดยไทยพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางทั้งในด้านนวัตกรรมการเกษตรและการศึกษาวิจัย

2. ด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรม EV ไทยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และต้องการครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมด (Ecosystem) ทั้งการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ และอื่นๆ ที่สามารถผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่นได้

ขณะที่บริษัทจากนิวซีแลนด์ เช่น บริษัท Morrison ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ให้ความสนใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การลงทุนในพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในไทย บริษัท Hiringa Energy Ltd. บริษัทด้านพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร ยินดีที่จะสนับสนุนบริษัทในไทยที่ต้องการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในประเทศ

3. ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมผลักดันให้เกิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-นิวซีแลนด์อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างกันได้ ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการค้า โดยบริษัท Air New Zealand เห็นถึงขีดความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ต่างเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 67 นี้จะเป็นปีแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีทั้งเทศกาล คอนเสิร์ต และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทยต่างๆ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อีกมาก

4. ด้านการศึกษา ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในไทย รวมไปถึงการจัดหลักสูตร และความร่วมมือทางสาขาวิชาชีพ การฝึกอบรมต่างๆ ทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานการศึกษานิวซีแลนด์ พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top