วิจัยกสิกรฯ คาด “ดิจิทัลวอลเล็ต” กระตุ้นค้าปลีกปี 67 ไม่มาก ชี้ขึ้นกับหลายเงื่อนไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital wallet ของรัฐบาล สามารถดำเนินการได้ทันทีในไตรมาส 4 ปีนี้ตามแผนที่วางไว้ อาจส่งผลให้ยอดขายค้าปลีกปี 67 โต 4% ขยับขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3% (กรณีไม่มีมาตรการฯ) หรือเพิ่มขึ้นไม่มากราว 1% โดยประเมินจากการใช้จ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคบนฐานธุรกิจค้าปลีก ที่น่าจะเพิ่มไม่ถึง 0.55 บาท หากผู้บริโภคมีรายได้เพิ่ม 1 บาท (Marginal propensity to consume: MPC) ภายใต้สมมติฐานธุรกรรมเกิดขึ้น 2 รอบ และราว 2 ใน 3 ในช่วงไตรมาส 4/67 ซึ่งนอกจากผลของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ Digital wallet จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของยอดขายค้าปลีกแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นมาจาก

– ยอดขายค้าปลีกส่วนใหญ่ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (ไม่รวมยอดขายยานพาหนะ และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร) ซึ่งผู้บริโภคมีการวางแผนการใช้จ่ายอยู่แล้ว ทำให้การใช้จ่ายกรณีที่มีมาตรการฯ อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่เป็นเพียงการนำเงิน Digital wallet ที่ได้จากภาครัฐมาใช้แทนเงินในส่วนของตัวเอง

– หากมาตรการฯ มีความล่าช้า รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องการกลับไปใช้เงินที่ภูมิลำเนา ก็อาจมีการทยอยใช้เงินหรือวางแผนใช้เงินในปีหน้า จึงอาจส่งผลต่อยอดขายของค้าปลีกในปี 68 แทน

ดังนั้น ผลของมาตรการฯ อาจไม่ได้หนุนผู้ประกอบการค้าปลีกให้มียอดขายที่ดีขึ้นเท่ากันทุกราย ขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันของร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภค อีกทั้งยังต้องติดตามเงื่อนไขของมาตรการฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดได้อีก

“ถ้า Digital wallet สามารถดำเนินการได้ตามแผน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนบรรยากาศ หรือสร้างยอดขายให้กับธุรกิจค้าปลีกในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า แต่ผลกระตุ้นจะมากหรือน้อย ยังคงขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไขที่ยังต้องรอติดตามความชัดเจน” บทวิเคราะห์ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังวิเคราะห์ว่า โครงการ Digital wallet จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบการใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตาม

นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. กำหนดพื้นที่ในการใช้เงิน ต้องอยู่ในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน

– ผู้บริโภคที่อยู่นอกภูมิลำเนา มีราว 6.6 ล้านคน อาจมีช่วงเวลาให้ใช้จ่ายสั้น และต้องวางแผนการเดินทางเพื่อกลับไปใช้จ่าย เช่น วันหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องเร่งใช้เงิน และเลือกซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่อครั้งสูง เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ หรือของใช้ส่วนตัว (เก็บได้นาน ไม่เน่าเสีย) ที่จำเป็นต้องซื้อในปริมาณมากๆ จึงทำให้การใช้จ่ายอาจกระจุกตัวอยู่แค่บางร้านค้า และบางสินค้าเท่านั้น

– ผู้บริโภคที่พำนักอาศัยอยู่ในภูมิลำเนา อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบใช้จ่ายเหมือนกลุ่มแรก และสามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าครั้งละไม่มากได้ เช่น ของกิน หรือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้เงินอาจกระจายได้ในร้านค้าและสินค้าที่หลากหลายกว่า

2. กำหนดเงื่อนไขประเภทของร้านค้าและการถอนเงินสด อาจจำกัดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะร้านค้าที่เดิมอยู่นอกระบบภาษี ปัจจุบันร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มีทั้งหมด 1.4 ล้านราย โดยเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพียง 2.8 แสนราย หรือราว 20% เท่านั้น

โดยการใช้ Digital wallet ในรอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก จะต้องเป็นร้านที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาส 3 แต่ร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย ซึ่งร้านค้าต้องไปใช้จ่ายกับร้านค้าอื่น และร้านค้าที่จะถอนเงินสดได้จะต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี และเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป

“ดังนั้น ร้านค้าที่จะลงทะเบียนเข้าร่วม คงจะต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่า ทั้งในมิติของยอดขาย จากการคาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจะใช้จ่ายอย่างไร และซื้อสินค้าประเภทไหน รวมถึงในมิติของการถอนเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยหากเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องการเงินสดในทันที และเดิมไม่ได้อยู่ในระบบภาษี อาจจะรู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าจนตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมสุดท้ายแล้วอาจมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดหวัง ส่งผลให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการกระจายรายได้ไปยังร้านค้าต่างๆ อย่างทั่วถึง ก็จะมีจำกัดลงตาม” บทวิเคราะห์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top