นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า
“FED มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าคาด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งสัญญาณแข็งกร้าวต่อเนื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินมีผลจำกัดต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) จึงเปลี่ยนมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง -25 bps ในไตรมาส 4/2567 จากเดิมที่มอง -50 bps ในครึ่งปีหลัง ด้วยแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีนี้มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของไทยลดน้อยลงด้วย บล.ทิสโก้มองตลาดอยู่ในช่วงของการหาสมดุลใหม่ แนะนำเลือกหุ้นเชิงคุณภาพที่มีปัจจัยบวกระยะสั้น และหุ้นที่มีโอกาสจะเข้า SET50 ครึ่งปีหลัง” นายอภิชาติ กล่าว
สำหรับหุ้นเชิงคุณภาพที่มีปัจจัยบวกระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นที่คาดงบจะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY)
โดยสรุป หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือนพ.ค. คือ AAI, BDMS, BJC, CPAXT, ICHI, ITC, NSL และ STANLY
ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้ แนวรับแรกอยู่ที่ 1,350 จุด แนวรับต่อมาคือ 1,330 จุด และ 1,300 จุดตามลำดับ แนวต้านสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,380 จุด แนวต้านต่อไปคือ 1,405-1,410 จุด และ 1,430-1,440 จุด ตามลำดับ
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในหลาย ๆ ด้าน โดยมาตรการที่คาดว่าจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาส 2/67 คือ การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ โดยกรณี Non-SET 100 จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท ต้องมีปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ยใน 12 เดือนที่ระดับ 2% และยังมีการเพิ่มราคาขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick)
การยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขาย น่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ แต่อาจต้องแลกด้วยมูลค่าซื้อขายที่อาจลดลงตามกฎเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ที่มีความเข้มงวดขึ้น โดยการเพิ่มเกณฑ์ Uptick เคยถูกนำมาใช้ในช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดวิกฤติ COVID-19 ระบาด ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตที่ปกติอยู่ประมาณ 5-6% ของมูลค่าซี้อขายโดยรวมของตลาดลดเหลือไม่ถึง 1% หรือลดลงกว่า 80%
บล.ทิสโก้ประเมินว่า หากนำเกณฑ์ Uptick มาใช้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ต้น ๆ ของมูลค่าซื้อขายโดยรวม ลดลงเหลือเพียง 2-3% เท่านั้น หรือเทียบเท่ามูลค่าซื้อขายจะลดลงประมาณ 10% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท อิงจากสัดส่วนราว 90% ของการขายชอร์ตเป็นหุ้น NVDR ซึ่งลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางการลงทุนของต่างชาติมีอิทธิผลต่อดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างสูง (Correlation +0.78)
ดังนั้นการขายชอร์ตของต่างชาติที่หายไปทุก ๆ 1,000 ล้านบาท คาดจะมีผลบวกต่อดัชนีหุ้นไทย ราว 7-8 จุด ดังนั้นหากมูลค่าชอร์ตหายไปราว 4,000 ล้านบาทที่กล่าวไว้ในตอนต้น บล.ทิสโก้ประเมินจะส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีหุ้นไทยราว 30 จุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 67)
Tags: SET50, ธนาคารกลางสหรัฐ, บล.ทิสโก้, ลดดอกเบี้ย, หุ้นไทย, เฟด