นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 สิงหาคม 2567 ทีมปฏิบัติการได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” ปลอม 290 เพจ โดยแบ่งเป็น แฟนเพจ Facebook จำนวน 284 เพจ และบัญชี Tiktok จำนวน 6 บัญชี พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบกรณีการส่งข้อมูลต่อกันว่า “ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์” และ “ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ”
ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่าประเด็นเรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS) จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปสู่ภายนอกได้
สำหรับ “แอปฯ ทางรัฐ” เป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางให้แก่ผู้ใช้บริการเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทาง หรือของประชาชนที่ลงทะเบียนมาไว้ที่แอปฯ ทางรัฐ แต่อย่างใด โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงใน แอปฯ ทางรัฐ นั้น สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปฯ “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปฯ “Google Play” ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น
ในส่วนของข่าวปลอม “ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ” จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัล (Digital wallet) กระทรวงดีอี พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค.67) และข้อมูลการลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการควบคุมกำกับดูแลที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยออกไปภายนอก ซึ่งการขายข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับมิจฉาชีพเป็นความผิดตามกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถทำได้แต่อย่างใด
ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข้อมูลดังกล่าวต่อในทุกช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ “แอปฯ ทางรัฐ” ได้จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111
“กระทรวงดีอี มีความห่วงใยประชาชนต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ โดยโจรออนไลน์ ได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอมแล้ว 290 บัญชี พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง และจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน” พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์” นายประเสริฐ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 67)
Tags: ข่าวปลอม, ดิจิทัลวอลเล็ต, ทางรัฐ, ประเสริฐ จันทรรวงทอง