AF กางแผนธุรกิจครึ่งปีหลังเจาะกลุ่มธุรกิจขาขึ้นตามดีมานด์พุ่ง หลังโชว์รายได้ครึ่งปีแรกโต 6.65%

นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 67 บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยจะเน้นการกระจายความเสี่ยงไปกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโต ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน 2.กลุ่มธุรกิจทางการแพทย์ 3.กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ 4.กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากมองว่า 4 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ในเทรนด์ที่มีแนวโน้มการสร้างมูลค่าเพิ่มสูง และสอดรับกับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ จากการผิดนัดชำระสินเชื่อ โดยจะมีกระบวนการพิจารณาเครดิต (Underwriting) และติดตาม (Monitoring) คุณภาพสินเชื่อจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านลูกค้าและลูกหนี้การค้า ทั้งก่อนและหลังอนุมัติสินเชื่อ ตลอดจนมีการกำหนดนโยบายเครดิตเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตกำหนดให้มีการทบทวนเครดิตลูกค้าและลูกหนี้การค้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งมีการติดตามและปรับปรุงกระบวนการด้านเครดิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการปฏิบัติงาน และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลา โดยอาศัยเทคโนโลยีและฐานข้อมูลในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีคุณภาพการบริหารสินเชื่ออยู่ในระดับที่ดีและได้สมาตรฐานตามที่วางไว้

อีกทั้งความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลต่อผลประกอบการ ทำให้บริษัทฯ มีมาตรการในการลดความเสี่ยง โดยจัดหาแหล่งเงินกู้ยืมและคิดอัตราผลตอบแทนให้สอดคล้องกับความเสี่ยง จากธุรกรรมลูกหนี้จากการซื้อสิทธิเรียกร้อง เพื่อให้บริษัทฯสามารถรักษาส่วนต่าง (Spread) ของดอกเบี้ยได้ตามที่บริษัทฯต้องการและยังสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บได้ ทำให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการปรับตัวในภาวะ ที่อัตราดอกเบี้ยมีความผันผวน

“กลุ่ม SMEs ยังคงมีความต้องการสินเชื่อแฟคตอริ่งอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่า 50% ของกลุ่มผู้ประกอบการSMEs ที่เข้าไปถึงแหล่งสินเชื่อ ทำให้ AF ต้องเร่งสร้างโอกาสวางแผนขยายการรับรู้ในช่องทางต่างๆ รวมทั้งสร้างพันธมิตรเครือข่าย เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางให้กลุ่ม SMEs ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน AF มี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย 1. สินเชื่อแฟคตอริ่ง 2. สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน (Exclusive PN) สำหรับลูกค้าเก่าประวัติดี 3.สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Long-Term Investment) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต หรือลงทุนในด้านพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการ และ 4.สินเชื่อสำหรับ Supply chain ผู้ซื้อรายใหญ่ (AFP : Account Payable Financing Program) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง”

สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 67 บริษัทมีรายได้รวม 126.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.50 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.65 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มีรายได้ 120.95 ล้านบาท ขณะที่กำไรส่วนที่เป็นขอผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 15.11 ล้านบาท โดยรายได้จากผลการดำเนินงานมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการซื้อสิทธิเรียกร้อง จำนวน 87.29 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 23.18 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมประเภทอื่นจำนวน 15.61 ล้านบาท และมีต้นทุนทางการเงินเท่ากับ 40.14 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้น 87.41 ล้านบาท

สินทรัพย์หมุนเวียน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 67 มีจำนวน 2,322.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.02 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เนื่องจากสัดส่วนลูกหนี้แฟคตอริ่งเท่ากับ 1,874.00 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75.1 ของสินทรัพย์รวม ขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน 1.22 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 3.56 เท่า โดยมีวงเงินสินเชื่อซึ่งยังไม่เบิกใช้จำนวน 880 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฯ มีเงินทุนและแหล่งเงินทุนที่เพียงพอมีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมและมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

“ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานโดยได้เริ่มปฏิบัติการใช้ระบบอนุมัติแฟคตอริ่งออนไลน์ เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจให้มีขอบเขตกว้างมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการพัฒนาระบบ รับซื้อบิลออนไลน์ (E-Factoring) ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) จะช่วยให้สามารถควบคุมการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top