โพลชี้ ส.ค.การเมืองป่วนฉุดดัชนีการเมืองร่วงจากเดือนก่อน

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือน ส.ค.67 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,249 คน ระหว่างวันที่ 23-30 ส.ค.67 โดยกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมเฉลี่ย 4.46 คะแนน ลดลงจากเดือน ก.ค.67 ที่ได้ 4.59 คะแนน

ขณะที่ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.39 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.) ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.05 คะแนน (ลดลงจากเดือน ก.ค.) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ส่วนนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สำหรับผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง ส่วนผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ตรวจสอบรัฐบาล เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง

โดยคะแนน 25 ตัวชี้วัดดัชนีการเมืองไทย พบว่า

– ผลงานของฝ่ายค้าน ได้ 5.39 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.35 คะแนน

– ผลงานของนายกรัฐมนตรี ได้ 4.68 คะแนน ลดลงจาก 4.78 คะแนน

– การพัฒนาด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ได้ 4.67 คะแนน ลดลงจาก 4.83 คะแนน

– สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้ 4.66 คะแนน ลดลงจาก 4.86 คะแนน

– การมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ 4.65 คะแนน ลดลงจาก 4.77 คะแนน

– การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ได้ 4.55 คะแนน ลดลงจาก 4.73 คะแนน

– ความมั่นคงของประเทศ ได้ 4.54 คะแนน ลดลงจาก 4.69 คะแนน

– ผลงานของรัฐบาล ได้ 4.51 คะแนน ลดลงจาก 4.76 คะแนน

– การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม ได้ 4.51 คะแนน ลดลงจาก 4.76 คะแนน

– การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ ได้ 4.50 คะแนน ลดลงจาก 4.74 คะแนน

– เสถียรภาพทางการเมือง ได้ 4.49 คะแนน ลดลงจาก 4.74 คะแนน

– สภาพสังคมโดยรวม ได้ 4.47 คะแนน ลดลงจาก 4.67 คะแนน

– การแก้ปัญหาต่างๆ ในภาพรวม ได้ 4.46 คะแนน ลดลงจาก 4.61 คะแนน

– การปฏิบัติตนและพฤติกรรมของนักการเมือง ได้ 4.45 คะแนน ลดลงจาก 4.67 คะแนน

– ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้ 4.44 คะแนน ลดลงจาก 4.54 คะแนน

– ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้ 4.43 คะแนน ลดลงจาก 4.49 คะแนน

– การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ได้ 4.41 คะแนน ลดลงจาก 4.52 คะแนน

– สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม ได้ 4.37 คะแนน ลดลงจาก 4.43 คะแนน

– ค่าครองชีพ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ ได้ 4.34 คะแนน ลดลงจาก 4.43 คะแนน

– กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ได้ 4.32 คะแนน ลดลงจาก 4.45 คะแนน

– ราคาสินค้า ได้ 4.17 คะแนน ลดลงจาก 4.21 คะแนน

– การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความโปร่งใส ได้ 4.15 คะแนน ลดลงจาก 4.19 คะแนน

– การแก้ปัญหาการว่างงาน ได้ 4.10 คะแนน ลดลงจาก 4.14 คะแนน

– การแก้ปัญหาความยากจน ได้ 4.06 คะแนน ลดลงจาก 4.09 คะแนน

– การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ได้ 4.05 คะแนน ลดลงจาก 4.15 คะแนน

โดยนักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 49.73%, นายเศรษฐา ทวีสิน 28.52% และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล 21.75% ส่วนนักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นฝ่ายค้าน ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 44.77%, นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 32.35% และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 22.88%

ผลงานของฝ่ายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบ ได้แก่ เงินดิจิทัล 10,000 บาทแจกกลุ่มเปราะบาง 41.44%, มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน 32.88% และ ช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัย บรรเทาภาระหนี้สิน 25.68% ส่วนผลงานของฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบ ได้แก่ ตรวจสอบรัฐบาล เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง 51.29%, ติดตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 27.74% และ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 20.97%

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยในเดือน ส.ส.67 ภาพรวมคะแนนลดลงจากเดือนก่อนหน้า การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือนและการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเท่าที่ควร ขณะที่ความนิยมในตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความคาดหวังที่สูงขึ้นของประชาชนที่มีต่อการทำงานของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญ

ขณะที่ นายเอกอนงค์ ศรีสำอางค์ ประธานหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ดัชนีการเมืองไทยในเดือน ส.ค.67 เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความร้อนแรงอย่างมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เนื่องมาจากการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อในวันที่ 7 ส.ค.67 และการตัดสินให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 โดยสิ่งที่สะท้อนตามมาคือ ราคาหุ้นในตลาดที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองทั้งในประเทศและนอกประเทศ ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านเศรษฐกิจ ความผิดหวังของประชาชนเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่มีแนวโน้มสั่นคลอน กระแสระบอบทักษิณที่อาจจะกลับมาจากการคาดการณ์ของนักวิจารณ์การเมืองต่าง ๆ และความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ครม.อิ๊ง 1 ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์จับมือเพื่อไทย ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยลดลง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top