กสทช.เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่เสี่ยง-จัดทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงอื่น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือแก้ไขระบบสื่อสารเร่งด่วน จัดทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติหลังน้ำลด 24 ชั่วโมง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องมองไปถึงพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยงอาจเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะจังหวัดริมน้ำโขง จึงได้มีการเตรียมมาตรการรับมือในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยในลำดับถัดไป เช่น อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และพื้นที่ริมแม่น้ำโขง โดยมีการประสานงานให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างต่อเนื่องมากที่สุด เช่น การยกระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองขึ้นที่สูง การเตรียมเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้าเพิ่มเติม และการเตรียมรถโมบายในพื้นที่ที่มีความสำคัญและครอบคลุมการให้บริการในวงกว้าง โดยมีการติดตามข้อมูลภัยพิบัติและเส้นทางน้ำ จากกรมบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน และติดตามสถานการณ์ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาทันต่อเหตุการณ์ให้เร็วที่สุด

“ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือระบบสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วม พื้นที่น้ำท่วมแล้ว และพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วม อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการใช้วิทยุสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ เราได้มีการประสานงานกับเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น ให้เตรียมความพร้อมและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการแจ้งเตือนภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่น ให้ข้อมูลสถานการณ์และเส้นทางการเดินทางให้กับทีมอาสากู้ภัยต่าง ๆ ที่จะเข้าไปในพื้นที่ ส่วนพนักงานสำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ขณะนี้นอกจากภารกิจช่วยเหลือด้านระบบสื่อสาร ยังได้เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ช่วยจัดเตรียมถุงยังชีพ แบตเตอรี่สำรองพกพา หรือพาวเวอร์แบงค์ (power bank) ขนาด 10,000 mAh ถุงกันน้ำ ถุงยังชีพ เพื่อแจกให้ผู้ประสบภัยให้สามารถติดต่อสื่อสารเพื่อแจ้งปัญหาและติดตามข่าวสารได้” นายไตรรัตน์ กล่าว

พร้อมทั้งได้ประสานสำนักงาน กสทช. ภาค และเขต เพื่อเตรียมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติหลังน้ำลดในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ด้านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำนักงาน กสทช. เร่งประสานงานผู้ประกอบการ และติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการสื่อสารล่ม โดยเฉพาะเสาสัญญาณของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีปัญหาจากระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด เสาไฟฟ้าล้ม ระบบไฟฟ้าสำรองมีไม่เพียงพอ และถนนถูกตัดขาด โดยได้ให้ผู้ประกอบการนำรถโมบายเข้าเสริมในพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งผู้ประกอบการได้นำรถโมบายมาเสริมจากพื้นที่อื่น ๆ ด้วย พร้อมทั้งการส่งเชื้อเพลิงไปยังสถานีฐานที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้า

ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับผู้ประกอบการเพื่อทำแผนฟื้นฟูระบบการสื่อสารภายใน 24 ชั่วโมง เช่น การซ่อมแซมระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองในพื้นที่ที่มีความสำคัญ และครอบคลุมการให้บริการในวงกว้าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top