เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้แต่งตั้งเทเรซา ริเบรา จากสเปนให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการด้านการป้องกันการผูกขาดของสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้ (17 ก.ย.) ขณะที่คายา คัลลัส จากเอสโตเนียจะรับผิดชอบดูแลด้านนโยบายต่างประเทศ
อันดรีอุส คูบิลีอุส จากลิทัวเนียจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการกลาโหมคนแรกของ EU ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของยุโรป เพื่อรับมือกับการรุกรานของรัสเซียทางด้านตะวันออกของทวีป
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า EC เป็นองค์กรที่ทรงอำนาจที่สุดของ EU โดยมีประเทศสมาชิก 27 ประเทศด้วยกัน EC มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายใหม่ของ EU ยับยั้งการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท และลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี
แต่ละประเทศสมาชิก EU จะมีผู้แทนหนึ่งคนใน EC ซึ่งมีบทบาทเทียบเท่ารัฐมนตรีในรัฐบาล อย่างไรก็ตาม น้ำหนักทางการเมืองของแต่ละตำแหน่งจะแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย
รายชื่อ EC ชุดใหม่ยังรวมถึง สเตฟาน เซฌูร์เน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะดูแลด้านยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ส่วนมาโรช เชฟโชวิช จากสโลวาเกียจะรับผิดชอบนโยบายการค้า
ผู้ได้รับการเสนอชื่อทุกคนจะต้องเข้าชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งจะต้องลงมติรับรองการแต่งตั้งในขั้นสุดท้าย
ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่า คณะกรรมาธิการชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง ความมั่นคง และประชาธิปไตย ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล
“เราต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ปราศจากคาร์บอนและมีความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน” ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวในการแถลงข่าว
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นฉากหลังสำคัญของทุกสิ่งที่เรากำลังดำเนินการ” ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับวาระห้าปีแรกของเธอ ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่า “ประเด็นด้านความมั่นคง ที่มีสาเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อองค์ประกอบและโครงสร้าง” ของทีมชุดใหม่
ทั้งนี้ คาดว่า EC ชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหมายความว่าหนึ่งในภารกิจแรกของพวกเขาคือการรับมือกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)
Tags: คณะกรรมาธิการยุโรป, ฟอน เดอร์ เลเยน