กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ว่า อาจยื่นคำร้องต่อศาลให้บริษัทอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ให้ขายธุรกิจบางส่วนออกไป เช่น เบราว์เซอร์โครม (Chrome) และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ที่สหรัฐฯ มองว่ากูเกิลใช้เพื่อผูกขาดตลาดการค้นหาออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในคดีใหญ่ที่ตัดสินไปเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ศาลชี้ว่ากูเกิลซึ่งครองส่วนแบ่งการค้นหาออนไลน์ในสหรัฐฯ ถึง 90% นั้นได้ผูกขาดตลาดแบบผิดกฎหมาย มาตรการแตกธุรกิจดังกล่าวที่ทางกระทรวงยุติธรรมเสนอต่อศาลในครั้งนี้จึงอาจพลิกโฉมวิธีการสืบค้นข้อมูลทางออนไลน์ของชาวอเมริกัน อีกทั้งยังอาจทำให้รายได้ของกูเกิลหดตัว และเปิดโอกาสให้คู่แข่งเติบโต
กระทรวงยุติธรรมระบุว่า “การจะแก้ปัญหาทั้งหมดนี้อย่างเต็มรูปแบบ ต้องไม่ใช่แค่ยุติการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลของกูเกิลในปัจจุบัน แต่ยังต้องป้องกันไม่ให้กูเกิลควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลในอนาคตด้วย”
อัยการกล่าวว่า มาตรการแก้ไขที่เสนอก็เพื่อป้องกันไม่ให้กูเกิลใช้อำนาจที่มีอยู่เดิม ขยายอิทธิพลไปครอบงำธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังอาจขอศาลให้สั่งยกเลิกการจ่ายเงินของกูเกิลที่ทำเพื่อให้เสิร์ชเอนจินของตัวเองถูกติดตั้งพร้อมใช้งานหรือตั้งเป็นค่าเริ่มต้นในเครื่องใหม่ ๆ
อนึ่ง กูเกิลจ่ายเงินให้บริษัทต่าง ๆ อย่าง แอปเปิ้ล (Apple) และผู้ผลิตอุปกรณ์รายอื่น ๆ (ปี 2564 กูเกิลจ่ายเงินรวม 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อให้แน่ใจว่า เสิร์ชเอนจินของตัวเองจะยังคงเป็นค่าเริ่มต้นในสมาร์ตโฟนและเบราว์เซอร์ ซึ่งก็ช่วยให้ส่วนแบ่งตลาดของกูเกิลยังคงแข็งแกร่ง
ทางด้านกูเกิลซึ่งมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ ได้โพสต์ในบล็อกของบริษัทว่า ข้อเสนอดังกล่าว “สุดโต่ง” และ “เลยเถิดไปไกลกว่าประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้”
กูเกิลยืนยันว่าที่เสิร์ชเอนจินของตนได้รับความนิยมนั้นเป็นเพราะคุณภาพ พร้อมเสริมว่า ทางบริษัทก็เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากอะเมซอน (Amazon) และเว็บไซต์อื่น ๆ อยู่แล้ว อีกทั้งผู้ใช้ก็สามารถเลือกเสิร์ชเอนจินอื่นเป็นค่าเริ่มต้นได้อีกด้วย
อนึ่ง อัลฟาเบท บริษัทใหญ่อันดับ 4 ของโลกที่มีมูลค่าตลาดกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังเจอแรงกดดันด้านกฎหมายอย่างหนักจากทั้งคู่แข่งและหน่วยงานต่อต้านการผูกขาด
เมื่อวันจันทร์ (7 ต.ค.) ศาลสหรัฐฯ ตัดสินในอีกคดีหนึ่งว่า กูเกิลต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้นในเพลย์สโตร์ (Play Store) รวมถึงต้องอนุญาตให้แอปแอนดรอยด์ (Android) สามารถดาวน์โหลดได้บนสโตร์ของคู่แข่ง นอกจากนี้ กูเกิลยังกำลังสู้คดีกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ต้องการให้แยกธุรกิจโฆษณาออนไลน์ออกไปอีกต่างหาก
กระทรวงยุติธรรมระบุว่า กำลังพยายามไม่ให้กูเกิลขยายอิทธิพลไปครอบงำวงการ AI โดยอาจจะขอให้กูเกิลเปิดให้คู่แข่งสามารถเข้าถึงดัชนี ข้อมูล และโมเดลต่าง ๆ ที่กูเกิลใช้สำหรับการค้นหาและฟีเจอร์ค้นหาด้วย AI
คำสั่งอื่น ๆ ที่อัยการอาจจะขอจากศาลรวมถึงการจำกัดไม่ให้กูเกิลทำข้อตกลงที่เป็นการปิดกั้นคู่แข่งในวงการ AI ไม่ให้เข้าถึงข้อมูลบนเว็บ และการให้เว็บไซต์ต่าง ๆ เลือกได้ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้กูเกิลเอาเนื้อหาของตัวเองไปใช้ในการฝึกฝนโมเดล AI
กูเกิลระบุว่า ข้อเสนอที่เกี่ยวกับ AI เหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของวงการนี้
“การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรมสำคัญเช่นนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนการลงทุน การบิดเบือนแรงจูงใจ การขัดขวางโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งที่ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เราควรส่งเสริมการลงทุน” กูเกิลกล่าว
ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่ากระทรวงยุติธรรมจะยื่นข้อเสนอโดยละเอียดต่อศาลภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ส่วนกูเกิลจะมีโอกาสเสนอมาตรการแก้ไขในแบบของตัวเองภายในวันที่ 20 ธ.ค.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 67)
Tags: Google, กูเกิล, สหรัฐ