นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ว่า เบื้องต้นจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ ราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม นั่นคือในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย. 2567 อัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ตรงนี้ถือเป็นข้อเท็จจริง
“ผลการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2567 ออกมาต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ถือว่าเป็นการติดลบในนาทีสุดท้าย แต่ถือว่าทำได้ดีมากแล้วในทุก ๆ หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ เพราะเป็นผลมาจากปัจจัยที่นอกเหนือจากการควบคุม คืออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริง ถ้าหากไม่มีปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่นอกเหนือการควบคุม กระทรวงการคลังก็มั่นใจว่าการจดัเก็บจะเป็นไปตามเป้าหมายในเอกสารงบประมาณอย่างแน่นอน” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงคลังวันที่ 31 ต.ค. นี้ จะมีการรายงานน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับภาพรวมมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งทำการบ้านกันอยู่ โดยมาตรการที่จะออกมาคงต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีว่าจำเป็นจะต้องมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นช่วงไหนบ้าง
ในส่วนของความคืบหน้าเรื่องกองทุนรวมวายุภักษ์นั้น ขณะนี้ทราบว่ากองทุนกำลังทยอยลงทุนในโอกาสที่เหมาะสม โดยได้รับข้อมูลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่ากองทุนฯ มีการลงทุนไปแล้วไม่ถึง 30% เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดทุนค่อนข้างดีแล้ว สะท้อนจากความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับมา เงินทุนไหลกลับเข้ามา และกองทุนรวมวายุภักษ์ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนตลาดทุนในปัจจุบันด้วย
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 นั้น มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีธุรกิจขายตรง แม้ว่ากฎหมายปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาดูว่าจำเป็นจะต้องมีการปรับส่วนใดบ้างเพื่อให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์ในปัจจุบัน กระบวนการขายตรงไปเร็วกว่าที่เคยเห็นกว่าในอดีตมาก
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ที่พลาดเป้าหมายไปส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผ่านการดูแลเรื่องราคาพลังงาน ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตพลาดเป้าหมายไปกว่า 28,000 ล้านบาท รวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าได้รับผลกระทบ แต่ยืนยันว่าการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้าหมายดังกล่าวไม่มีผลกระทบใด ๆ และไม่มีนัยสำคัญกับการบริหารงานภายใต้ส่วนที่รัฐบาลมีกรอบอำนาจหน้าที่
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเรื่องค่าเงินมีความเบาบางลงหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะต้องมาดูแนวทางของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีสัญญาณที่เป็นบวก ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลเองก็พร้อมจะใช้กลไกด้านการคลังผ่านการบริหารจัดการเก็บรายได้ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ไม่มีภาวะสะดุดติดขัด เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป
เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ จะมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่กระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงแนวทางและกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี หลังจากที่รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเฟสแรกไปแล้วกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจากการหารือนอกรอบกับนายกฯ ในวันนี้ นายกฯ เห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เพื่อช่วยรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งจะต้องไม่ปล่อยเวลาให้นานเกินไปหลังจากกระตุ้นเศรษฐกิจในเฟสแรก
“ได้คุยกับนายกฯ เบื้องต้น มองว่า จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมาสักอย่าง เพื่อเป็นกลไกในการสร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อรักษาโมเมนตัมให้การกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7% แต่หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี ก็จะมีผลในเชิงบวกต่อ GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้จากเดิม
อย่างไรก็ดี กรณีที่มีความกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จะส่งผลต่อความเสี่ยงทางด้านการคลังนั้น ตนขอยืนยันว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการจะไม่กระทบกับความเสี่ยงทางการคลังอย่างแน่นอน เพราะแต่ละโครงการที่จะทำมีขนาดหลักพันล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้ใช่ขนาด 5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท และการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดก็ยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้ผ่านการพิจารณาไปแล้ว เพียงแต่จะต้องมาพิจารณาปรับให้แต่ละมาตรการที่ทำต้องเกิดผลคุ้มค่า ดังนั้นไม่มีการขาดดุลเพิ่มขึ้น หรือต้องกู้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยประเด็นที่รัฐบาลต้องคิดหนัก คือ เครื่องมือที่มีอยู่จะใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดผลบวกที่สุดในจังหวะที่เหมาะสมที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 67)
Tags: กระตุ้นเศรษฐกิจ, กระทรวงการคลัง, การจัดเก็บรายได้, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ลวรณ แสงสนิท