
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 68 พิจารณาปรับเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (NPL) แต่มียอดหนี้คงค้างไม่สูง ไม่เกิน 5 พันบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที โดยเบื้องต้นจะมีการปรับเพิ่มวงเงินหนี้คงค้างเป็น 1-3 หมื่นบาทต่อบัญชี เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะมาดูแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ในส่วนที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ราว 4 แสนกว่าราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 6.7 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้คงค้างนานมาก ก็จะเอามาพิจารณาเงื่อนไขเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ วงเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะต้องไปหารือว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มนอนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด วงเงินรวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นจะต้องหารือรายละเอียดกับนอนแบงก์แต่ละแห่ง โดยต้องมีการแยกประเภทลูกหนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขต่อไป
“ถ้าแก้ 3 ส่วนนี้ได้ ซึ่งคิดเป็นลูกหนี้ 3 ล้านกว่าคน แปลว่ากลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในระบบตอนนี้ 5.4 ล้านราย ก็จะหายไปแล้ว 3 ล้านกว่าราย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่หนี้มีมากกว่า 1 แสนบาท ซึ่งมีราว 2 ล้านคน โดยพบว่ามีราว 5 แสนราย ที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาทก็ต้องไปหารือกับสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วเยหลือที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ส่วนการซื้อหนี้ไม่เหมาะที่จะดำเนินการกับลูกหนี้กลุ่มนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 68)
Tags: กระทรวงการคลัง, คุณสู้ เราช่วย, พิชัย ชุณหวชิร, หนี้ครัวเรือน, หนี้บุคคลธรรมดา, หนี้เสีย