กรรมการ BOJ หนุนขึ้นดอกเบี้ยอีก หากทิศทางภาษีทรัมป์เริ่มชัดเจน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ (13 พ.ค.) โดยระบุว่าในการประชุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. ที่ผ่านมา กรรมการบางส่วนเล็งเห็นโอกาสที่ BOJ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ BOJ ได้ระงับการขึ้นดอกเบี้ยไว้ชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวระบุว่า แม้กรรมการส่วนใหญ่มองว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่กรรมบางคนกล่าวว่าผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะเส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนของ BOJ ต้องหยุดชะงัก

ทั้งนี้ กรรมการคนหนึ่งกล่าวว่า ทิศทางนโยบายของ BOJ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอาจเปลี่ยนไปเป็นเชิงบวกหรือลบอย่างรวดเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความชัดเจนของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

ขณะที่กรรมการอีกคนหนึ่งกล่าวว่า แม้ BOJ ระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ชั่วคราวเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่ควรทำให้ BOJ มีมุมมองลบมากเกินไปและต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น เช่น การเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของสหรัฐฯ

การแสดงความเห็นของบรรดากรรมการ BOJ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาจุดยืนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่เหนือเป้าหมายและตลาดแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัวยังคงสร้างแรงกดดันต่อบริษัทต่าง ๆ ในการปรับขึ้นค่าจ้าง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% โดยระบุว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงขึ้น

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเม.ย. จะขยายตัวเพียง 0.5% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.1% โดย BOJ เตือนว่าข้อพิพาททางการค้าอาจทำให้กำไรของบริษัทญี่ปุ่นชะลอตัวลง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอ่อนแอลงด้วย

ขณะเดียวกันคณะกรรมการ BOJ คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารสด จะเพิ่มขึ้น 2.2% ในปีงบประมาณ 2568 ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top