
ภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อปลายเดือนเม.ย.68 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งในกลุ่ม D-SIBs (ธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ : Domestic Systemically Important Banks) เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลงในกรอบ 0.05-0.15% ซึ่งรูปแบบของการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ในรอบนี้ เป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขา โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปบางตัวลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเช่นกัน
หากมองย้อนกลับไปที่การลดดอกเบี้ยของ กนง. 3 รอบที่ผ่านมา (ต.ค.67, ก.พ.68 และ เม.ย.68) พบว่ามีการทยอยส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ย และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM: Net Interest Margin) ในระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ หรือระบบแบงก์ไทย เพราะแม้ผลในด้านหนึ่งจากการปรับลดดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการระดมเงินฝากลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็กดดันให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อลดลงตามไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่อานิสงส์จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ยังมีจำกัด ตามสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
NIM ระบบแบงก์ไทยที่ชะลอลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้น สะท้อนผลจากต้นทุนเงินฝากที่ขยับลงช้ากว่าผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ เพราะอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ย จะทยอยมีผลต่อการรับรู้ต้นทุนเงินฝากตามรอบการครบกำหนดของระยะเวลาฝากเงิน โดยจากโครงสร้างพอร์ตเงินฝากของระบบแบงก์ไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดเงินรับฝากในสกุลเงินบาทส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 69% ของเงินรับฝากโดยรวม อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ มีการปรับลดลงค่อนข้างน้อยในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ต้นทุนการระดมเงินฝากมักจะขยับตามรอบของเงินฝากประจำ โดยเงินฝากประจำระยะไม่เกิน 3 เดือน, ระยะ 3-6 เดือน และระยะ 6-12 เดือน มีสัดส่วนประมาณ 5%, 3% และ 17% ตามลำดับ
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปมองภาพรวมการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ ตามรอบการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ระหว่างเดือนต.ค.67-เม.ย.68 จะพบว่า การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก มีช่วงเวลาที่หน่วง และช้ากว่าการปรับลดดอกเบี้ยในฝั่งเงินกู้อยู่ประมาณ 1 รอบ
ทั้งนี้ เมื่อรวมผลของการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขาของธนาคารพาณิชย์ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.68 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า NIM ของระบบแบงก์ไทย มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2/2568 มาอยู่ที่ 2.83% จาก 2.92% ในไตรมาสที่ 1/2567 และคาดว่า NIM ยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับประมาณ 2.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ภายใต้สมมติฐานที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศ อาจปรับลดลงอีก 1 ครั้ง เพื่อช่วยประคองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อในภาพรวม ยังต้องใช้เวลา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์เร่งปรับลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายลงอีก ในช่วงที่เหลือของปี 2568 (แม้จะมีความพยายามดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ท่ามกลางแนวโน้มของ NIM ที่จะยังลดลงต่อตามทิศทางดอกเบี้ยในประเทศในครึ่งปีหลัง ขณะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ กระทบการปล่อยสินเชื่อ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวช้า รวมถึงทำให้ความเสี่ยงขาขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพยังมีอยู่
ผลดีของการลดดอกเบี้ยรอบนี้ จะอยู่ที่ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อบ้าน ที่จะเข้าสู่ช่วงปรับดอกเบี้ยเป็นหลัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันอื่น ๆ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2568 จะมีสัดส่วนประมาณ 56.6% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย
โดยผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบนี้ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ ปรับลดลงประมาณ 4,400-4,900 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่เริ่มคำนวณผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ ที่ลดลงในช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ธ.ค.68
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 68)
Tags: Kresearch, NIM, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย