
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากว่า 8.8 แสนคน เป็นตัวเลขที่ลดจากปีการศึกษา 2567 ที่มีอยู่ราว 1.02 ล้านคน โดยในปีการศึกษา 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วนการศึกษา ทั้งชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ร่วมจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ให้แก่เด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และไม่สามารถกลับเข้าสู่การเรียนในระบบโรงเรียนได้ เพราะปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจ ครอบครัว การเดินทาง และข้อจำกัดในชีวิตอื่น ๆ ให้สามารถกลับมาเรียนด้วยแนวทางการจัดการศึกษายืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา ผ่านโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School
พร้อมตั้งเป้าใช้การศึกษายืดหยุ่นช่วยเด็กกลับมาเรียนไม่น้อยกว่า 5.5 หมื่นคน ในปีการศึกษา 2568 นี้ ซึ่งเป็นการสานต่อมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
โครงการดังกล่าว กสศ. ร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเครือข่ายศูนย์การเรียน โดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 รูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต ภายใต้แนวคิดนำการเรียนไปให้น้องตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ร่วมมือกับ กสศ. เพื่อสานต่อมาตราการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา คือ ผู้เรียนไม่ได้เรียนที่โรงเรียน แต่เรียนรู้ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะวิชาการและประสบการณ์ต่าง ๆ จากแหล่งเรียนรู้อื่นตามความถนัด ความสนใจของแต่ละคน และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เช่น ฟาร์มเกษตร นาข้าว ผืนป่า สวนผัก สวนผลไม้ ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม วงดนตรีหมอลำ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่มีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ ก็สามารถออกแบบวิธีการเรียนให้เด็กเยาวชนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเองได้
โดยคุณครูจากศูนย์การเรียนฯ จะวางแผนการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับนักวิชาชีพต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของความรู้ในอาชีพนั้น ๆ ไม่ว่าจะพ่อแม่ ปราชญ์ชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ผู้นำชุมชน อบต. ท้องถิ่น นักวิชาชีพ ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ มีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร นักวิชาชีพต่าง ๆ ที่ร่วมจัดการศึกษา ที่สำคัญน้อง ๆ จะมีรายได้จากการได้ลงมือทำงานจริงในเส้นทางเรียนรู้รูปแบบนี้ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 68)