
Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จะขยายตัวดีที่ 3.1%YoY แต่แรงส่งหลักของเศรษฐกิจ มีทิศทางชะลอลง แม้การส่งออกสินค้าจะขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากการเร่งส่งออกก่อนการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ทำให้ภาคการผลิตดีขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าที่ชะลอลง สะท้อนอุปสงค์ในระยะข้างหน้าที่เริ่มแผ่วลง
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักมาหลายไตรมาสมีแนวโน้มแผ่วลง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หากหักผลของฐานที่ต่ำจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้าในปีก่อน จะส่งผลให้ GDP ไตรมาสนี้ ขยายตัวได้ประมาณ 2% เท่านั้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักในปี 2568 ตามการออกบัตรส่งเสริม BOI ที่สูงในปีก่อน เริ่มเผชิญความท้าทาย โดยแม้ว่าการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ จะขยายตัว 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQSA) แต่ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าโลก ส่งผลให้ธุรกิจมีแนวโน้ม wait-and-see จนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
“มีความท้าทายมากขึ้น ที่เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ 2% ตามที่เคยประเมินไว้เดิม จากแรงส่งเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ที่แม้จะขยายตัว แต่โมเมนตัมเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรง อีกทั้งความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้า โดยไทยยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม และต้องอาศัยมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม ทั้งด้านการบรรเทาผลกระทบ และการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” บทวิเคราะห์ ระบุ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.68 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2568 ขยายตัว 3.1%YoY และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวได้ 0.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจาก 1.การส่งออกสินค้าและบริการ 2.การลงทุนภาครัฐ 3.การบริโภคภาคเอกชน
พร้อมกันนี้ สภาพัฒน์ คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 1.3-2.3% (ค่ากลาง 1.8%) จากปัจจัยเสี่ยง 1. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลก 2. การขึ้น Reciprocal tariffs ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับประเทศไทยในอัตราที่สูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)
Tags: krungthai COMPASS, เศรษฐกิจไทย