
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวเปิดสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Navigating the new trade order: ทิศทางการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าในยุคระเบียบการค้าโลกใหม่” โดยระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะการตอบโต้ปัญหาจากสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพและไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยการส่งออก ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention: AC) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard: SG) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสินค้านำเข้าดังกล่าว ในการเตรียมข้อมูลและความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อยื่นขอใช้มาตรการและเข้าสู่กระบวนการไต่สวน นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
- แย้มส่งออกเม.ย. ขยายตัวสูงต่อเนื่อง
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมแผนเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ พร้อมจัดตั้งหน่วยคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ในการเฝ้าระวังสินค้าที่เข้าประเทศ และตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายนอมินี เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันในตลาดโลก พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือเมื่อถูกไต่สวนจากมาตรการทางการค้าจากต่างประเทศ
“ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกเติบโตถึง 3.1% การส่งออกขยายตัวถึง 15.2% ในไตรมาสแรก และเดือนมี.ค. ตัวเลขส่งออกพุ่งถึง 17.8% และตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ที่จะแถลงในวันจันทร์หน้าก็ยังดีมาก ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทย กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับอีกหลายประเทศ เช่น EU เกาหลีใต้ และแคนาดา เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย” รมว.พาณิชย์ กล่าว
ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยมากมาย อาทิ การบรรยายถึงมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า (AD/CVD/SG/AC) จากผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ รวมไปถึงร่วมเสวนา Trade Diversion ทั้งจากรัฐและเอกชนที่ผนึกกำลังรับมือสงครามการค้า โดยมีผู้แทนภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงนักวิชาการ เพื่อมาช่วยกันระดมสมองเพื่อหาแนวทางการรับมือ
นอกจากนี้ ยังมีบรรยายมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “มาตรการตอบโต้การอุดหนุนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการการค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ ยังเตรียมจัดงานสัมมนาดังกล่าวในต่างจังหวัดในช่วงเดือนก.ค.68 อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 68)