BJC ท็อปฟอร์ม Q1/68 โชว์กำไรพุ่งพรวด 115% โฟกัสเพิ่มประสิทธิภาพ-เดินหน้าขยายสาขา

บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/68 ที่ 1,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155% จากปีก่อน จากต้นทุนลดลง และไม่มีผลกระทบจากรายการภาษีพิเศษเหมือนไตรมาสเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษ บริษัทมีกำไรสุทธิปรับปรุงที่ 1,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6%

รายได้รวมอยู่ที่ 41,616 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 0.9% จากการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงในหลายกลุ่มธุรกิจ

บริษัทฯ ยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่อเนื่อง และได้ยุติธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ได้แก่ บริษัท ไทย-สแกนดิค สตีล จำกัด (TSS) เพื่อโฟกัสธุรกิจหลักตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว

กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์

BJC รายงานยอดขายกลุ่มบรรจุภัณฑ์ไตรมาส 1/68 ที่ 5,699 ล้านบาท ลดลง 10.1% จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และความต้องการกระป๋องอะลูมิเนียมในไทย-เวียดนามที่อ่อนตัว อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% อยู่ที่ 512 ล้านบาท จากอัตรากำไรที่ดีขึ้นตามต้นทุนหลัก เช่น โซดาแอช เศษแก้ว และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วแม้ยอดขายลดลง 7.1% แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนและการเติบโตของธุรกิจร่วมค้าในต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระป๋องได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง 13.1% และอัตรากำไรที่อ่อนตัว

กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค

BJC รายงานยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 5,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน จากยอดขายที่แข็งแกร่งในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ดันกำไรสุทธิแตะ 375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% โดยมีอัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นเป็น 6.6%

กลุ่มธุรกิจอาหารเติบโตเล็กน้อย 1.2% จากแคมเปญส่งเสริมการขาย ด้านกลุ่มสินค้าอุปโภคยอดขายพุ่ง 12.1% จากธุรกิจจัดจำหน่ายกระดาษและสินค้ากลุ่มแพรอท พร้อมประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนกลุ่มธุรกิจต่างประเทศแม้ยอดขายลดลงจากผลกระทบค่าเงิน แต่สามารถรักษากำไรสุทธิเติบโตได้จากการควบคุมค่าใช้จ่าย

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคของ BJC ไตรมาส 1/68 มียอดขาย 2,121 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากยอดขายผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น โบท็อกซ์ และอุปกรณ์การแพทย์ แม้กลุ่มเทคนิคจะชะลอตัวจากการหยุดธุรกิจ TSS

อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นแตะ 35.0% จาก Product mix ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปิดกิจการ TSS ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมลดลง 70.4% เหลือ 56 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมรายการพิเศษ กลุ่มเวชภัณฑ์และเทคนิคมีกำไรหลัก (Core Profit) เพิ่มขึ้น 23.4% แตะ 232 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นเป็น 10.9% จาก 8.9% ในปีก่อนหน้า

กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ของ BJC ไตรมาส 1/68 รายได้รวมอยู่ที่ 28,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากปีก่อน โดยรายได้จากการขายสินค้าเติบโต 1.8% แตะ 25,483 ล้านบาท จากยอดขายกลุ่มอาหารสดและอาหารแห้งที่แข็งแกร่ง ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) โต 2.1% หรือ 3.4% หากไม่รวมผลจากปีอธิกสุรทิน

รายได้อื่นลดลง 3.6% จากการปรับปรุงสาขาและปิด 3 สาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่อัตราการเช่าพื้นที่ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 89.4%

อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 18.1% จาก Product mix ที่เปลี่ยนไป โดยสินค้ากลุ่มไม่ใช่อาหารมีสัดส่วนลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานและ EBITDA ลดลงเล็กน้อยเป็น 5.8% และ 12.2% ตามลำดับ

กำไรสุทธิของกลุ่มค้าปลีกไตรมาสนี้อยู่ที่ 977 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากปีก่อน ตามการลดลงของรายได้อื่นและมาร์จิ้นรวม

กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/68 โดยได้เปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 1 สาขา ที่หัวหินประเทศไทย รวมถึงเปิดบิ๊กซี มินิจำนวน 16 สาขา ร้านหนังสือเอเชีย บุ๊คส์จำนวน 1 สาขา บิ๊กซี ฮ่องกงจำนวน 6 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิสฮับจำนวน 5 สาขา และร้านกาแฟวาวี 1 สาขา รวมทั้งมีการปิดสาขาบิ๊กซี รัตนาธิเบศร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 1 สาขา บิ๊กซี มินิจำนวน 3 สาขา บิ๊กซี ฮ่องกงจำนวน 3 สาขา ร้านขายยาเพรียว 1 สาขา และร้านกาแฟวาวีจำนวน 8 สาขาในระหว่างไตรมาส

ส่งผลให้เครือข่ายร้านค้าของบริษัทมีร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 155 สาขา (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์จำนวน 1 สาขาในประเทศกัมพูชา และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์จำนวน 1 สาขาในประเทศลาว) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 52 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ตจำนวน 34 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลสจำนวน 16 สาขาในประเทศไทย และ 2 สาขาในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าบิ๊กซี ฮ่องกงจำนวน 17 สาขา ร้านค้าบิ๊กซี มินิ จำนวน 1,629 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ในประเทศไทยจำนวน 77 สาขา และบิ๊กซี มินิ จำนวน 19 สาขาในประเทศกัมพูชา) บิ๊กซี ดีโป้จำนวน 11 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิสจำนวน 12 สาขา ตลาด Open-Air จำนวน 9 สาขา ร้านขายยาเพรียวจำนวน 145 สาขา ร้านกาแฟวาวีจำนวน 36 สาขา ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์จำนวน 70 สาขา ในขณะที่เครือข่ายร้านค้าโดนใจมีจำนวน 11,911 สาขา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top