สิงคโปร์เผยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผยในวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่นับรวมต้นทุนที่อยู่อาศัยและการขนส่งในภาคเอกชน เพิ่มขึ้นแตะระดับ 0.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2567 จากระดับ 0.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.ของสิงคโปร์ดีดตัวขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% โดยมีสาเหตุมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้น 1.4% ต้นทุนด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น 0.5% และต้นทุนการดูแลสุขภาพที่พุ่งขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) อยู่ที่ระดับ 0.9% ในเดือนเม.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมี.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8%

แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้นในเดือนเม.ย. แต่ MAS และ MTI ยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ระดับเฉลี่ย 0.5%-1.5% ในปี 2568 โดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทำให้ MAS ตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงิน 2 ครั้งในปีนี้ ในช่วงเวลาที่มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าของสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์เปิดเผยเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 3.9% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประมาณการในเดือนเม.ย.ที่ 3.8% แต่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของสิงคโปร์หดตัวลง 0.6%

รัฐบาลสิงคโปร์ได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2568 เอาไว้ในกรอบ 0.0%-2.0% เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าทั่วโลก ขณะที่นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ได้เตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐบาลไม่ตัดความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของประเทศจะเผชิญภาวะถดถอย

ทั้งนี้ สิงคโปร์ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10% ซึ่งแม้จะน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เนื่องจากการค้ามีสัดส่วนประมาณสามเท่าของ GDP สิงคโปร์จึงยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญผลกระทบจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของการค้าโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 68)

Tags: ,
Back to Top