โพลชี้กรณีฮั้วเลือก สว.ทำชาวบ้านสิ้นศรัทธาระบบการเมืองไทย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,211 รายที่สนใจติดตามข่าวการเมืองเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณีข่าวฮั้ว สว.” ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า กรณีดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยคิดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากระบบการเลือกตั้ง และความไม่โปร่งใสในกระบวนการขั้นตอน ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในสังคม เกิดความขัดแย้งทางความคิด แนวทางการแก้ปัญหาควรเร่งปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สว.

* ความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสข่าวกรณีฮั้ว สว.กับพรรคการเมืองนั้

  • อันดับ 1 ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน 56.73%
  • อันดับ 2 หากผิดจริง อยากให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย นำผู้กระทำผิดมารับโทษ 53.34%
  • อันดับ 3 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ สว.และนักการเมืองยิ่งเสื่อมเสีย 52.93%

* สาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีฮั้วเลือก สว.

  • อันดับ 1 ระบบการเลือกตั้ง สว. ความไม่โปร่งใสในกระบวนการขั้นตอน 60.36%
  • อันดับ 2 พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน 59.70%
  • อันดับ 3 เป็นเกมการเมือง แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ 57.56%

* ความขัดแย้งจากกรณีฮั้ว สว.จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลหรือไม่

  • อันดับ 1 ส่งผลกระทบ 66.15%
  • อันดับ 2 ไม่ส่งผลกระทบ 33.85%

* ควรแก้ไขปัญหากรณีฮั้ว สว.อย่างไร

  • อันดับ 1 เร่งปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สว. 61.81%
  • อันดับ 2 มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น โปร่งใสมากขึ้น 55.34%
  • อันดับ 3 รอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ 50.87%

* กรณีฮั้วเลือก สว. ประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

  • อันดับ 1 เกิดความไม่ไว้วางใจในสังคม เกิดความขัดแย้งทางความคิด 57.12%
  • อันดับ 2 ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจในระบบประชาธิปไตย 54.30%
  • อันดับ 3 ทำให้ประชาชนสนใจติดตามการเมืองมากขึ้น 48.84%

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนว่าจากกรณีข่าว ฮั้ว สว. ประชาชนไม่เพียงแค่ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมือง แต่ยังต้องการให้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง สว. และกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นและความรู้สึกไม่มั่นคงในประชาธิปไตยเป็นสัญญาณที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจก่อนจะกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว

ขณะที่นายสมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฏหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า กรณีข่าวฮั้วเลือก สว. ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา สว. แต่ยังตอกย้ำถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนดูพัฒนาการทางการเมืองจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การได้มาซึ่ง สว. สะท้อนถึงอำนาจที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ทั้งการเกิดขึ้นของสภาผัวเมีย หรือปลาสองน้ำ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการแทรกซึมของฝ่ายการเมือง

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช.มีบทบาทในการแต่งตั้งและสรรหา สว. ยิ่งสร้างข้อกังขาต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ทั้งนี้สถานะของ สว.ที่ควรเป็นกลไกตรวจสอบกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และนำมาซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการได้มาซึ่ง สว. ดังนั้นความคาดหวังของประชาชนจึงมิได้อยู่ที่การเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยและมีความถูกต้องยุติธรรมในกระบวนการ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ เราจะปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับบริทบทางการเมืองของประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top